‘ตาบอด เนื้อตาย’ ภัยร้ายจากฟิลเลอร์
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเร่งประกาศเตือนภัยอันตรายเรื่องการฉีดฟิลเลอร์โดยเฉพาะการฉีดจมูกทำให้ตาบอดได้ เผยหลายหน่วยงานพยายามเตือนหลายครั้ง แต่ดูเหมือนหลายคนก็ยังไม่กลัวพากันไปฉีดจมูก จนเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกจนได้
รศ. นพ. นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการใช้ สารเติมเต็ม หรือ ฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการ คือ ผิวหนังซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือใยคอลลาเจน มีหน้าที่สำคัญโดยเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา พบว่าใยคอลลาเจนจะค่อย ๆ มีจำนวนลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนใยคอลลาเจนที่สลายไปหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ฟิลเลอร์”
ชนิดฟิลเลอร์ แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. แบบชั่วคราว (temporary filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4 – 6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid, HA) 2. แบบกึ่งถาวร (semi permanent filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ 3. แบบถาวร (permanent filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว
ฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิว เพื่อเพิ่มปริมาตรของใบหน้า ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ หรือเพื่อลดริ้วรอยบนใบหน้าชนิดที่เป็นร่องลึกนิยมใช้ที่สุดในปัจจุบันคือ กรดไฮยาลูโรนิก เนื่องจากมีคุณสมบัติเฉื่อย ไม่ทำให้เกิดการแพ้ มีความคงตัว และอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน อีกทั้งยังสามารถเสื่อมสลายไปเอง ไม่เกิดปัญหาสะสมในร่างกาย ในประเทศไทยมีเพียงกรดไฮยาลูโรนิกเท่านั้น ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย
คุณสมบัติกรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้เป็นสารเติมเต็มจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ขนาดโมเลกุล โครงสร้าง และความแข็งของสาร สารที่มีขนาดของโมเลกุลเล็กจะเหมาะกับการใช้รักษาริ้วรอยตื้น ๆ และคงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 เดือน ในขณะที่สารที่มีขนาดของโมเลกุลใหญ่จะใช้สำหรับการเพิ่มปริมาตรของใบหน้า และการรักษาริ้วรอยหรือร่องขนาดลึก ซึ่งจะคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 เดือน ริ้วรอยที่นิยมใช้การฉีดสารเติมเต็มเพื่อรักษา เช่น รอยย่นบริเวณหว่างคิ้ว รอยตีนกา และรอยย่นบนหน้าผาก สารเติมเต็มยังสามารถเพิ่มปริมาตรของใบหน้าบริเวณแก้ม ร่องแก้ม และบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วย
ข้อชี้บ่ง สำหรับการรักษาปัญหาผิวพรรณในปัจจุบัน ฟิลเลอร์จะถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เราสามารถใช้ฟิลเลอร์กับการรักษาปัญหาผิวพรรณได้ โดยการแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้มโดยการฉีดฟิลเลอร์จะสามารถเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้ สามารถใช้
ฟิลเลอร์เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้องเลือกชนิดแผลผิวบุ๋มที่เหมาะสมต่อการรักษา โดยแผลนั้นต้องไม่มีพังผืด ในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ฟิลเลอร์ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม (augmentation) เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม
ผลข้างเคียง : ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ได้แก่ 1. เกิดผื่นแดงบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ หรือรอยช้ำบริเวณฉีดซึ่งหายได้เอง 2. การเกิดรอยนูน หรือผิวไม่เรียบเนื่องจากเทคนิคการฉีดที่ตื้นเกินไป หรือเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลไม่เหมาะสม และอาการแพ้กรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งขึ้นอยู่กับปฎิกิริยาของร่างกายผู้ได้รับการฉีดเอง 3. เกิดปัญหาการเคลื่อนย้าย (migration) เช่น ฉีดดั้งจมูกแล้วฟิลเลอร์เคลื่อนไหลไปที่ปลายจมูก ดังนั้นถ้าต้องการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมคางหรือจมูก ต้องเลือกฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เพื่อให้ฟิลเลอร์ชนิดนั้นมีความหนืดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่ฉีด และทำให้มีอายุใช้งานได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย 4. อาการแพ้สารฟิลเลอร์ที่ให้ลักษณะเป็นก้อนนูนแดงอักเสบ อาการแพ้ชนิดนี้บางครั้งอาจพบได้ภายหลังการฉีดฟิลเลอร์ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุใช้งานของฟิลเลอร์ชนิดนั้นๆ 5. การที่ฉีดฟิลเลอร์ผิดตำแหน่งโดยฉีดเข้าไปในหลอดเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ ทำให้เกิดเนื้อตายบริเวณที่เส้นเลือดนั้นมาเลี้ยง หรือฉีดฟิลเลอร์แล้วเกิดตาบอด เนื่องมาจากฟิลเลอร์ที่ฉีดเกิดไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา มีผลทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งขณะนี้พบในประเทศไทยและต่างประเทศแล้ว
ปัจจุบันมีวารสารทางการแพทย์อย่างน้อย 41 เรื่อง รายงานผู้ป่วยรวมถึง 61 ราย ที่เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงหลังการฉีดสารเติมเต็ม โดยตำแหน่งที่ฉีดแล้วทำให้เกิดเนื้อตายได้บ่อยที่สุดคือ จมูก (33.3%) และร่องแก้ม (31.2%) และตำแหน่งที่ฉีดแล้วทำให้เกิดตาบอดได้บ่อยที่สุดคือ หว่างคิ้ว (58.3%) และร่องแก้ม (33.3%)จากวารสารทางการแพทย์พบมีรายงานผู้ป่วยตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์ในประเทศเกาหลี 44 ราย และในสหรัฐอเมริกา 3 ราย ในประเทศไทยไม่เคยมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ แต่มีการยืนยันผู้ป่วยแล้ว 8 ราย
รศ พญ. รังสิมา วณิชภักดีเดชา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าข้อควรระวังสำหรับการเลือกใช้สารเติมเต็มเพื่อความสวยงาม คือ 1. ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนทุกครั้ง 2. เลือกใช้บริการกับคลินิกที่มีมาตรฐานและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล (ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ กฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545) อย่างถูกต้อง 3. ไม่ควรใช้สารอื่น ๆ ที่ไม่แน่ใจในมาตรฐานและความปลอดภัยมาฉีดเป็นอันขาด
คำเตือน ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงอยากจะขอเตือนผู้ที่อยากมาฉีดสารเติมเต็มโดยเฉพาะการฉีดเสริมดั้งจมูกหรือในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ขอให้พิจารณาศึกษาหาข้อมูล ทั้งสถานที่ที่จะรับบริการ สารที่แพทย์จะฉีดให้ และตัวแพทย์ที่ฉีดด้วย ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงที่ร้ายแรงพบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอันตรายมาก และแม้ว่าสารที่ฉีดได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้เครื่องมืออุปกรณ์การฉีดที่ได้มาตรฐาน แต่ผู้ที่ฉีดขาดความชำนาญ หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีความชำนาญฉีดถูกต้องตามหลักวิชาทุกประการ แต่ผู้รับบริการที่ลักษณะทางกายวิภาคผิดไปจากที่ควร (เช่น อาจได้รับอุบัติเหตุมีพังพืด หรือเคยเสริมจมูกมาแล้ว) หรือเป็นความแปรผันของเส้นเลือดที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็เป็นสาเหตุของผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
ในประเทศไทยได้จัดประเภทของสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ไว้เป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งฟิลเลอร์ทั้งหมดที่ผ่านการรับรองจาก อย. ในปัจจุบันจะเป็นกรดไฮยาลูโรนิกทั้งสิ้น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลของสารเติมเต็มที่ได้ อย. หรือที่เว็บไซต์ http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp?id=drug การฉีดสารเติมเต็ม ต้องฉีดโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ได้ที่ http://www.tmc.or.th/service_check.php และสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ผิวหนังได้ที่http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-search_md
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวให้คำแนะนำว่า การฉีดสารเติมเต็ม ควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อม มีความสะอาด และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยต้องตรวจสอบหลักฐานสำคัญ เช่น 1. ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล 2. ต้องมีรูปถ่ายติดไว้ที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นอย่างชัดเจน และ 3. แพทย์ที่ให้การตรวจรักษาจะต้องตรงกับรูปถ่ายที่ติดไว้หน้าห้องตรวจในคลินิก หากเข้าไปใช้บริการแล้วไม่พบหลักฐานดังกล่าว หรือไม่ครบถ้วน ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นสถานพยาบาลเถื่อน ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนคุ้มครองผู้รับบริการสุขภาพ โทร.0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง
หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร. 02-716-6857 เว็บไซต์ www.dst.or.th หรืออีเมล์ [email protected]
ที่มา : สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต