ตั้งเป้าพัฒนาสุขภาพหลังพบโรครุมเร้าคนกรุง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ตั้งเป้าพัฒนาระบบสุขภาพคนกรุง มุ่งหวังประชาชนทุกคน มีสุขภาวะดี ทั้งกาย ใจ และสังคม
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุม เชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จัดโดย คณะกรรมการเขตสุขภาพ เพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เป็นเวทีวิชาการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นการระดมความเห็นและแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เหมาะสมในกรุงเทพฯ โดยมี นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รอง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน การพัฒนาระบบสุขภาพ นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง นางศิรินทร สนธิศิริกฤตย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ที่ปรึกษาวิชาการเขตสุขภาพที่ 13 และกรมควบคุมโรค รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องแคทรียา 1 โรงแรมรามาการ์เด้นท์ เขตหลักสี่
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคน มีสุขภาวะดี ทั้งกาย ใจ และสังคม ไม่จำกัดเฉพาะระบบบริการสาธารณสุขเพียงด้านเดียว แต่จำเป็นต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆ กัน เริ่ม ตั้งแต่ระดับพื้นที่ระดับเขต ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประสังคม ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีการพัฒนาระบบสุขภาพ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีคณะกรรมการ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และในอนาคต ก็จะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) อีก 50 เขต เพื่อให้คนกรุงเทพมหานครมีสุขภาพที่ดีขึ้น และในปี 2575 ได้ตั้งเป้าหมาย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ทานอาหารปลอดภัย ปลอดอุบัติเหตุ และปลอดโรค คนเมือง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพจิต รวมไปถึงไข้เลือดออก และวัณโรค
โดยมีแนวทางสำคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ กทม. เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาสุขภาพ คนกรุงเทพฯ สำหรับจัดทำแผนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพจริง 2.การมีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่กระจายตัวครอบคลุมเขตพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานบริการสุขภาพ 3.การลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งการบริโภค ผักผลไม้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ออกกำลังกายน้อย ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง และ 4.การลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะมีการวางแนวทางการ ปฏิบัติผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ร่วมกัน