ตั้งเป้าฉีดวัคซีน 7 ล้านโดส ต้านโควิด-19
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
รัฐบาลยันยืนแผนบริหารจัดการโควิดชัดเจน หลังปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนตามเป้าเดิม ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ติดต่อฉีดวัคซีนโควิดได้ที่รพ.ฟรี ทั้งเข็มปกติ-เข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยันมีวัคซีนเพียงพอ ตุลาคมเตรียมไว้ 7 ล้านโดส สำหรับ 4 เป้าหมาย ติดเชื้อรายวัน 655 ตาย 12 ศพ อนามัยโพลพบปชช.ส่วนใหญ่ยังหนุนใส่ แมสก์-ล้างมือ-เว้นระยะห่าง ป้องกันโควิดกลับมาระบาดซ้ำ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน เพจไทยรู้สู้ โควิด-19 รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) 655 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 655 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ-ราย ผู้ป่วยสะสม 2,454,917 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม หายป่วยกลับบ้าน 1,032 ราย หายป่วยสะสม 2,469,446 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ส่วนผู้ป่วยกำลังรักษาตัวมี 7,694 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 12 ราย เสียชีวิต สะสม 11,020 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 524 ราย
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีและโฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยผลสำรวจอนามัยโพล ตั้งแต่วันที่ 1-19 กันยายน พบว่า จากการสำรวจทุกพฤติกรรมของประชาชนตามมาตรการสาธารณสุขป้องกันระบาดโควิดมีแนวโน้มลดลงจากเดือนสิงหาคมคือ การสวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่ปิด หรือคนรวมตัว กันหนาแน่น จากร้อยละ 94.8 เป็นร้อยละ 93.6 การล้างมือ จากร้อยละ 88.6 เป็นร้อยละ 87.5 และการเว้นระยะห่าง จากร้อยละ 87.3 เป็นร้อยละ 86.3 สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 82.6 เป็นร้อยละ 80.4
นพ. เอกชัยกล่าวต่อว่า ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า มาตรการที่มีความจำเป็น และควรทำต่อไปในระยะเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การเฝ้าระวังพฤติกรรมการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ร้อยละ 25.57 รองลงมาคือ การจัดสถานที่ให้มีอุปกรณ์ล้างมือเพียงพอ มีการเว้นระยะห่าง และระบายอากาศที่ดี ร้อยละ 22.47 ทำความ สะอาด และจัดการด้านสุขาภิบาลสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 20.22 ตามลำดับ
นพ. เอกชัยกล่าวด้วยว่า ถึงแม้แนวโน้ม สถานการณ์โควิด ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มี การดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการที่ผ่อนคลาย มากขึ้น แต่ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรม สุขภาพ และใส่ใจอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสี่ยงสูง กลุ่ม 608 และผู้มีโรคประจำตัว ยังต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ สวมหน้ากากหากอยู่ในที่ปิด หรือคนรวมตัวกันหนาแน่น หรือหากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่แออัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเตรียมแนวทางบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการเฝ้าระวัง การ รักษาโรค รวมถึงแผนบริหารจัดการวัคซีนไว้รองรับอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในส่วนการให้วัคซีนป้องกันโรค ยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายเดิม คือ ประชาชนอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามสถานพยาบาล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน และผู้รับเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนต่อเนื่อง โดยปริมาณวัคซีนมีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งวัคซีนคงคลังที่สามารถจัดสรรได้ทันที และวัคซีนที่ทำสัญญาไว้แล้วรอส่งมอบจากผู้ผลิต
รองโฆษกรัฐบาลยังชี้แจงโครงสร้างการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีน ระยะที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ให้คำแนะนำการใช้วัคซีน ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่ง 2 ส่วนแรกนี้ดำเนินงานเช่นเดียวกับช่วงที่ยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และส่วนที่สาม เป็นการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดจากเดิมที่ดำเนินการโดย ศบค.จะเปลี่ยนไปอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และจะตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป
สำหรับแผนให้วัคซีนประชาชนเดือนตุลาคมนั้น มีทั้งสิ้น 7 ล้านโดส ประกอบด้วย เป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องการรับเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 ล้านโดส 2.ผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 แสนโดส 3.เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 1 ล้านโดส 3.เด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ที่ต้องการ รับเข็ม 1 จำนวน 5 แสนโดส และ 4.ผู้ที่ เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและต้องการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 4 หมื่นโดส
น.ส.ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า วัคซีน ไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มสำหรับหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับมอบจากผู้ผลิตประมาณกลางเดือนตุลาคม จากนั้น จะกระจายผ่านระบบสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม.กำหนด นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือกับองค์การปกครอบส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริการฉีดให้ศูนย์เด็กเล็ก ดำเนินการภายใต้กำกับของแพทย์