ตั้งเป้าขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางถนน
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องอาศัยความเข้มแข็งในระดับชุมชน ร่วมกับจุดแข็งด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นใน 4 มาตรการลดอุบัติเหตุ หวัง 10 ปี ลดตายได้ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน
ที่ รร.แม่น้ำ รามาดาพลาซ่า ย่านเจริญกรุง-บางคอแหลม กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงร่วม (MOU) ว่าด้วยการขับเคลื่อนโครงการพัฒนากลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดสู่อำเภอและตำบล ระหว่างศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี เชียงราย ยโสธร ระยอง สมุทรสงคราม สุพรรณบุรีและสุราษฎร์ธานี กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายนิพนธ์ กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ในปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นคน ลดลงจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นคน และในปี 2563 ตลอดทั้งปีอาจเหลือเพียงประมาณ 1.6-1.7 หมื่นคน เนื่องจากมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรก แต่หากมองความสูญเสียที่ผ่านมา พบว่ามีหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชากรวัยเรียน และวัยทำงานเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ย่อมซ้ำเติมภาวะสังคมสูงวัย ที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เรายังมีปัญหาที่จะเป็นภาระของสังคมคือคนที่พิการจากอุบัติเหตุอีกประมาณปีละ 5,000 ราย ไม่รวมคนบาดเจ็บที่จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาล เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แล้วที่สำคัญคือ เป็นเหตุให้ไปทำให้การบริการสาธารณสุขของประเทศไทยรู้สึกว่ามีความแออัดมากขึ้น เพราะคนที่เจ็บจากอุบัติเหตุแต่ละปีนับล้านคน ไปแย่งเตียงผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ส่วนนี้ก็เป็นปัญหาในเชิงสาธารณสุขของประเทศอีก” นายนิพนธ์ กล่าว
รมช.มท. กล่าวต่อไปว่า ตามปฏิญญามอสโก และปฏิญญาสต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นภาคีระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน มีความท้าทายคือภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงให้เหลือไม่เกิน 12 คนต่อ 1 แสนประชากร โดยเป้าหมายเบื้องต้นต้องลดให้เหลือ 16 คนต่อ 1 แสนประชากร ดังนั้นกระบวนการทำงานต้องปรับให้เข้มข้นมากขึ้น จากประเทศสู่จังหวัด อำเภอและตำบล เพื่อให้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดประชุมและรายงานผลทุกๆ 3 เดือน นอกจากนี้ยังขยายผลไปถึงศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ ให้ช่วยกระตุ้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้กลไกท้องที่และท้องถิ่นทำงานบูรณาการไปด้วยกัน ในลักษณะถอดบทเรียนจากการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน และไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนอาสาสมัครต่างๆ และชุมชน ประสานกันอย่างเข้มแข็ง หากทำได้เชื่อว่าความสูญเสียจะลดลง
“ทั้งหลายทั้งปวงก็คือมุ่งที่จะลดการตายจากการขับขี่จักรยานยนต์เป็นข้อแรก เพราะไปดูตัวเลข ไปดูสถิติการตายบนท้องถนน อันดับแรกคือการตายจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์ ฉะนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตจากรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเน้นเรื่องการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งเรากำหนดว่าน่าจะมีการสวมหมวกนิรภัย 100% ในกรณีขับรถจักรยานยนต์ ฉะนั้นการที่จะขอให้คนขับรถมอเตอร์ไซค์สวมหมวกนิรภัยให้ได้ 100% ต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัว ชุมชน โรงเรียน โรงงาน ในพื้นที่ในสถานประกอบการต่างๆ และการบังคับด้วยกติกาเมื่อขับขี่อยู่บนท้องถนนต้องสวมหมวกกันน็อก” นายนิพนธ์ ระบุ
นายนิพนธ์ ยังกล่าวอีกว่า จะทำอย่างไรให้คนขี่มอเตอร์ไซค์รู้สึกเคยชินว่าเมื่อนำรถออกสู่ท้องถนนต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง เช่นเดียวกับยุคโควิด-19 ในปัจจุบันที่เมื่อคนจะออกจากบ้านสิ่งที่ขาดไม่ได้คือหน้ากากปิดปาก-จมูก นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรเป็นสถานที่บ่มเพาะระเบียบวินัยว่าด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะเรื่องนี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่อายุน้อยๆ จะมาฝึกตอนอายุมากๆ นั้นทำได้ยาก
นอกจากนี้ อปท. ที่ดูแลถนนกว่า 6 แสนกิโลเมตร จะลดความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน จากจุดเสี่ยงในแต่พื้นที่ เช่น บริเวณทางโค้งที่มีต้นไม้บดบังทัศนวิสัย ได้อย่างไร รวมถึงการติดตั้งป้ายบอกความเร็ว ไฟส่องสว่าง เป็นต้น เพราะแต่ละชีวิตนั้นมีค่า ดังที่เคยมีการคำนวณว่า กว่าที่คนคนหนึ่งจะเรียนหนังสือจบแล้วออกมาเป็นวัยทำงาน รัฐต้องใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาท ดังนั้นการที่มีผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละ 2 หมื่นราย เท่ากับรัฐต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปถึงปีละ 2 แสนล้านบาท