ตั้งสมาคมนักเขียนบทละครฯ สร้างบทสร้างสรรค์
ที่มา : MGR Online
ภาพโดย สสส.
ทัพนักเขียนบทชื่อดัง จับมือ สสส. ตั้ง “สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์” หลังพบเยาวชนเลียนแบบละคร 78% หวังใช้พลังนักสื่อสารขับเคลื่อนสังคมวิถีชีวิตสุขภาวะ
เมื่อวันที่26 เม.ย. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “การก่อตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์” เพื่อให้เกิดวิถีการทำงานร่วมกันในการสร้างสังคมสุขภาวะ พร้อมเสวนา ในหัวข้อมิติด้านสื่อเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมสุขภาวะ โดยมีนายนิพนธ์ ผิวเณร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายละคร สถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 พร้อมด้วยนายนิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้ผลิตละคร บริษัท มาสเตอร์วัน จำกัด นายยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทละครโทรทัศน์ อาทิ กรงกรรม และนางสาวอคัมย์สิริ สุวรรณศุข ดารานักแสดง เข้าร่วม
นางสาวศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่า ละครโทรทัศน์ถือเป็นสื่อสารมวลชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแขนงหนึ่ง นอกจากหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่คนดูละครโทรทัศน์ ยังทำหน้าที่สะท้อนภาพความจริงรวมทั้งสะท้อนแง่มุมของสังคมในหลากหลายมิติ นักเขียนบทละครโทรทัศน์จึงตระหนักถึงความสำคัญของละครโทรทัศน์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมให้เอื้อต่อสุขภาวะ
“การจัดตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์เป็นการพัฒนางานวิชาชีพเพื่อทำหน้าที่สื่อสารมวลชนให้ดีและเหมาะสมในฐานะนักสื่อสารสุขภาวะที่เป็นหนึ่งพลังขับเคลื่อนสู่สังคมวิถีชีวิตสุขภาวะ โดยปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์กว่า 100 คน โดยมุ่งหวังว่าการตั้งสมาคมฯจะได้ร่วมงานกับ สสส. และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่องค์ความรู้และเพื่อการพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์รุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจในบทบาท คุณค่า ที่มีต่อสังคมในฐานะนักสื่อสารสุขภาวะ อันนำไปสู่บทละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาถูกต้องเหมาะสมสร้างสรรค์ต่อไป” นางสาวศัลยา กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาด้านสื่อมีอิทธิพลต่อคนทุกกลุ่มวัยโดยผลสำรวจนิด้าโพล เรื่อง“พฤติกรรมการเลียนแบบจากการดูละคร/ภาพยนตร์” ปี 2559 พบว่า ร้อยละ 78.74 ได้รับอิทธิพลมาจากละคร ในขณะที่เด็กเยาวชนมีโอกาสในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น การดูละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ ผ่านมือถือและช่องทางที่หลากหลาย กลับพบว่า เนื้อหาในละครยังมีความรุนแรง เนื้อเรื่องไม่สร้างสรรค์ นำเสนอข้อมูลผิดพลาด และใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม
"ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์สื่อ ที่มีความเท่าทันสื่อและรอบรู้ทางสุขภาพ เป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศสื่อที่ดี โดยมีผู้ผลิตสื่อที่มีจิตสำนึกมีมาตรฐานทางวิชาชีพและเนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสร้างสังคมสุขภาวะ สสส.จึงประสานความร่วมมือกับนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะละครโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชม สามารถสอดแทรกแนวคิดเชิงบวกแฝงเข้าไปกับความบันเทิง ช่วยสร้างการเรียนรู้ ชี้นำความคิด ค่านิยม และพฤติกรรม ที่เหมาะสมของพลเมืองในสังคมได้" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว