ตั้งคลินิกดูแลผู้ป่วยไตวาย
นพ.วงษ์สวัสดิ์ ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 จ. นครสวรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีอัตราการป่วยเป็นไตวายเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากรหรือประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน และมีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นปีละว่า 7,800 ราย
ทางโรงพยาบาลยุพราชตะพานหินจึงได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดตั้งเป็นคลินิกป้องกันไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เน้นการประสานงานกับโรงพยาบาล(รพ.)พิจิตร โรงพยาบาลตะพานหินและชุมชน หรือเรียกว่าคลินิก CKD (CKD : chronic kidney disease)
โดยคลินิกดังกล่าวไม่เพียงแค่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังครบทุกระยะ แต่ยังเป็นระบบคัดกรอง ป้องกันและชะลอเข้าสู่ภาวะไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเริ่มจากการค้นหาผู้ป่วยที่ทาง รพ.ตะพานหินจะนำผลการตรวจผู้ป่วยในกลุ่มโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
ซึ่งที่ผ่านมาในจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 4,842 ราย ได้รับการคัดกรองค้นหาภาวะไตวาย 3,587 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ผ่านการคัดกรอง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2556 มีผู้ป่วยที่ถูกคัดกรองเข้าสู่คลินิกดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 33 ราย ซึ่งจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
"แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไตมีอยู่ 5 ระยะ โดยระยะที่ 1 – 3 ทางคลินิกจะดำเนินการดูแลและรักษาเองโดยการให้ความรู้การดูแลสุขภาพจากพยาบาลประจำคลินิกที่จะนัดผู้ป่วยตามวันที่ทีมแพทย์ พยาบาลคลินิกไตของ รพ.พิจิตร มาตรวจรักษา ส่วนผู้ป่วยอยู่ในระยะ 4 – 5 จะต้องดำเนินการส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.พิจิตร เพื่อไปดูว่าจะเลือกแนวทางการรักษาโรคไตอย่างไร เช่น ล้างไตหน้าท้อง ล้างไตทางเส้นเลือด เป็นต้น"
ที่มา: มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต