`ตัวคุ่น` แมลงที่ชื้นเย็น

`ตัวคุ่น` แมลงที่ชื้นเย็น thaihealth


          ในช่วงหน้าหนาว จะมีแมลงค่อนข้างชุกชุม ยิ่งทางเหนือ จะพบแมลงริ้นดำ ซึ่งคนเหนือจะเรียกว่า "ตัวคุ่น" ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "ผะบอ" (คุ่นเหลือง) "คะซู " (คุ่นดำ) ส่วนตัวหนอนเรียก "ก่อก๊อบ" ซึ่งเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายแมลงหวี่ บินได้เหมือนยุง แต่ตัวใหญ่กว่า พบมากในป่าหรือบนดอยสูง อย่าง ดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก ยังสามารถพบได้บนดอยตุง "คนชอบเที่ยวป่าแทบทุกคนจะมีประสบการณ์ตรงกับแมลงกลุ่มนี้ และสงสัยว่า มันเป็นแมลงอะไร กัดแล้วจะนำโรคร้ายอะไรมาสู่เรามั้ย?"


          ตัวหนอนของตัวคุ่นที่ชาวเขาเผ่ากะเหรียงเรียกว่า ก่อ ก๊อบ หรือเกลอะ จะเกาะบนผิวลานหิน ชาวบ้านจะนำมายำกินแกล้มกับเหล้าพื้นบ้าน ในงานฉลองต่างๆ ถือว่าเป็นอาหารจานพิเศษเลยทีเดียว เห็นอร่อยอย่างนี้แต่ก็มีพิษไม่ใช่น้อยเลย มาดูกันว่ามันจะก่อให้เกิดอะไรได้บ้าง


          ตัวคุ่นชอบหากินในช่วง 7-8 โมงเช้า และช่วง 4-5 โมงเย็น หากถูกกัด จะมีตุ่มน้ำเลือดคั่งอยู่ภายใน แต่ไม่มีพิษเหมือนยุงลาย เพียงแค่ทำให้รำคาญ สำหรับผู้ไม่แพ้ จะหายเป็นปกติไปเหมือนไม่เคยถูกกัด แต่สำหรับคนที่แพ้  จะมีอาการคัน มีไข้ร่วมด้วย บางรายมีอาการบวมและแดงนานเป็นเดือน และเมื่อหายจะมีแผลเป็นจุดด่างดำ


          ในต่างประเทศพบว่า โรค "ออนโคเคอร์เคียสิส" เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย ซึ่งตัวคุ่นเป็นพาหะของโรค ทำให้เกิดก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณลำตัว หัวไหล่ และศีรษะ โดยภายในก้อนจะพบตัวแก่ของพยาธิอยู่เต็มไปหมด และจะมีอาการผิวหนังอักเสบได้ โชคดีที่โรคนี้ไม่พบในประเทศไทย จะพบได้ในทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง และใต้คาบสมุทรอาราเบียในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้


          เมื่อพบตัวคุ่น มาใกล้ ถ้าถอยห่างได้ก็ถอย แต่ถ้าประชิดตัว ใช้มือตบอย่างเดียวค่ะ ด้วยธรรมชาติของคุ่นจะบินต่ำและช้า เราจะจัดการได้ง่าย ไม่เหมือนยุงที่บินโฉบและสูง แต่ถ้าโดนกัด ให้ล้างมือสะอาด เจาะตุ่มเลือดที่คั่งอยู่ใต้ผิวหนังออก จากนั้นล้างแผลให้สะอาด แล้วทาครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ สารที่ทำให้ชา รวมทั้งกินยาที่มีส่วนผสมของแอนติฮิสตามีน เพื่อลดอาการบวมจากการแพ้ เรียกว่ากันไว้ก่อนจะดีกว่า


          ส่วนการป้องกัน สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด ปกปิดผิวหนัง เพื่อไม่ให้คุ่นเข้าทำร้าย เช่น


          – ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือ ถุงเท้าและหมวก


          – ทาครีม น้ำมัน หรือเจลพวกตะไคร้หอม ที่มีส่วนผสมเป็นสารที่มีฤทธิ์ป้องกันแมลง แต่จะถูกกับสูตรใด ก็ลองทดสอบที่ผิวหนังดูก่อนนะคะ


          – สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือรู้ว่าตนเองแพ้ง่าย อย่าลืมนำยาติดตัวไปด้วย


          หวังว่าการเดินทางครั้งนี้ของคุณและเพื่อนๆ จะนำมาซึ่งความสุขและสนุกสนาน


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน โดย นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง รศ.พญ.นิลรัตน์ วรรณศิลป์  ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code