ตอกย้ำภัยบนท้องถนนที่เกิดจาก ‘เมาแล้วขับ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
"สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย ปี 2562" ตอกย้ำภัยบนท้องถนนที่เกิดจาก 'เมาแล้วขับ'
เพื่อเป็นการตอกย้ำเตือนให้ทุกคน ได้ตระหนักถึงภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงที่มีเทศกาลสำคัญ ๆ ของประเทศ อาทิ เทศกาลสงกรานต์ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำนักเครือข่าย ลดอุบัติเหตุ (สคอ.) บริษัทกลางคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดงานแถลงข่าว "สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย ปี 2562" เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว และช่วยกันลดความสูญเสีย ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. รณรงค์วัฒนธรรมเมาไม่ขับมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ใช้ชื่อว่า "สงกรานต์ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย ปี 2562" และมีประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ที่จัดโซนนิ่งรวบรวมถนนตระกูลข้าว ปลอดเหล้า จำนวน 51 ถนน และมีพื้นที่เล่นน้ำ ปลอดเหล้ามากกว่า 113 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทำสื่อวีดีโอที่ชื่อว่า "คิดถึงบ้าน" เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง รวมถึงได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่อง กฎหมายการตรวจจับผู้กระทำผิดจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงมา คือ การขับรถเร็ว และยังละเลยการใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งข้อมูลจากสถิติของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า มีคนดื่มสุราในช่วงสงกรานต์สูงถึง 36% แต่ในช่วงเวลาปกติมีการดื่มสุรา 28.4% นอกจากตัวเลขการดื่มที่เพิ่มขึ้นแล้ว ช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีการเดินทางกันมากขึ้นด้วย หากดื่มสุราแล้วยังขับขี่จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดกับการเดินทางไกลอย่างเดียว แต่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร แถวบริเวณบ้าน แหล่งชุมชน ก็สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญการเสียชีวิตส่วนใหญ่ 41% เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ทั้งครอบครัวได้รับผลกระทบตามไปด้วย การเสียชีวิตของคนหนึ่งคนไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบอยู่แค่ตรงนั้นแต่มันเป็นปัญหาต่อเนื่องที่สังคมจะต้องตามแก้กันต่อไป
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ตอกย้ำว่า สงกรานต์ที่ผ่านมามีการเตรียมพร้อมโดยการดึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันรณรงค์ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด ซึ่งทางสำนักตำรวจแห่งชาติจะเก็บพยานหลักฐานทั้งหมดในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ของแต่ละบุคคลเอาไว้ ทั้งนี้ ผลการเจาะเลือดผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีที่ผ่านมา พบว่า 60% มีปริมาณแอลกอฮอล์ ถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในร่างกาย หรือ คิดง่าย ๆ ว่า ในถนนมีแต่คนเมาขับรถอยู่ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติ ดังนี้ 1.ดื่มไม่ขับ 2.ไม่ขับรถเร็ว 3.ขับรถตอน กลางคืนให้ระวังมากขึ้นเพราะเทศกาลต้องยอมรับว่าเราจะมีคนดื่มแล้วขับบนถนนมากขึ้น และในปีนี้หากคนขับเมา ผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยก็มีสิทธิได้รับโทษ เพราะไม่ตักเตือนห้ามปราม
นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโทษในการเมาแล้วขับ โดยมีระดับแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อัตราโทษ สูงถึง 1 ปี และปรับ 10,000-20,000 บาท หากดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทำให้ ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ทั้งนี้ขอย้ำเตือนว่า อย่าให้ช่วงเทศกาลทำให้ครอบครัวเกิดการสูญเสีย ประชาชนต้องมีการเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ไม่ดื่มแล้วขับทุกชีวิตจะปลอดภัย
นางสาวรุจิรา คุทโสระ อายุ 22 ปี ผู้ประสบอุบัติเหตุจากคนดื่มแล้วขับ เล่าย้อนให้ฟังว่า หลังเลิกงานได้ขึ้นรถรับ-ส่งพนักงานเพื่อกลับบ้าน ซึ่งตนได้นั่งข้างคนขับ ในช่วงเวลาประมาณตี 4 ตนได้เผลอหลับไปและเกิดอุบัติเหตุทำให้คนขับได้พุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้า เมื่อฟื้นขึ้นมาที่โรงพยาบาล เห็นแม่และเพื่อนยืนล้อมรอบเตียง เมื่อสังเกตร่างกายทำให้รู้ว่าไม่สามารถขยับช่วงล่างตั้งแต่เอวไปจนถึงปลายเท้าได้ ซึ่งหมอได้ทำการผ่าตัดปลายประสาทแต่ก็ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นปกติได้อีก ตนจึงกลายเป็นผู้พิการช่วงล่างอย่างถาวร รู้สึกเสียใจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย แต่เมื่อนึกถึงแม่และลูกทำให้เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น และเริ่มสมัครงานใหม่จนปัจจุบันทำอาชีพพนักงานบัญชีที่มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ สิ่งที่เสียใจที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การที่มีรายได้ไม่มากเท่าเดิม แต่เป็นการที่ตนได้ทราบภายหลังว่าคนขับรถรับ-ส่งพนักงานคนนั้นดื่มแล้วขับ แต่กลับปฏิเสธเสียงแข็งกับเธอว่าไม่ได้ดื่ม
ทุกคนที่ต้องกำพวงมาลัยรถอยู่ในมือ อย่ามองว่าการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเมื่อไหร่ที่คุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ความสามารถในการขับขี่จะลดลง อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมคนขับรถ ดังนั้นเราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองเป็นสำคัญ การรณรงค์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ย้ำเตือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ซึ่งเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะยาว คือ การเปลี่ยนทัศนคติและเพิ่มความรับผิดชอบของคนขับรถเป็นสำคัญ