`ตลาดสุขภาพ` อาหารปลอดภัย-ไกลโรค
"โรคมะเร็ง" เป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ต่อเนื่อง มานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรุนแรงมากขึ้น และมีคนไทยเสียชีวิตกว่า 60,000 คนต่อปี ขณะที่ทั่วโลก มีรายงานการเสียชีวิตปีละ เกือบ 8 ล้านคน
แฟ้มภาพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อัตรา การป่วยโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป กระบวนการผลิตอาหาร ปนเปื้อนในทุกขั้นตอนตั้งแต่ การปลูกที่พึ่งพาสารเคมีสูง มาจนถึงระบบตลาดที่บังคับ ผู้บริโภคเลือกอาหารเพียง ไม่กี่ชนิด มาจนกระบวนการ แปรรูป ที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอ การเจ็บป่วยจากการบริโภคทำให้ กระแสความ ตื่นตัวในเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ "ตลาดสุขภาพ" ที่ตลาดของ ท้องถิ่นได้พยายามพัฒนา รูปแบบที่พ่อค้าแม่ค้าที่ใส่ใจ ความปลอดภัยของสินค้าทั้ง ผัก ผลไม้ ก่อนถึงมือผู้บริโภค
โดยขณะนี้มี 6 ตลาดที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเครือข่ายพ่อค้าแม่ขายพัฒนา ตลาดสุขภาพเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบด้วย ตลาดสามชุก ตลาดดอนหวาย ตลาดคลองสวน ตลาดบางน้ำผึ้ง ตลาด นครเนื่องเขต และตลาดตลิ่งชัน มีพ่อค้า แม่ขายกว่า 600 รายที่เข้าร่วม
สาเหตุพ่อค้า แม่ค้าจำนวนมากเข้าร่วมพัฒนาตลาดสุขภาพ นส.ธัญภรณ์ ชื่นยินดี เจ้าหน้าที่สนับสนุนงานสมาคม เสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม บอกว่า ตลาดสุขภาพเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆมาจากความสนใจของพ่อค้าแม่ค้าเอง ที่ใส่ใจต่อ ผู้บริโภคที่ต้องการให้ได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย
การสร้างตลาดสุขภาพ ของพ่อค้า แม่ค้าที่คำนึงถึงสินค้าที่มีความปลอดภัย จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง
นายอุทัย อัตถาพร ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมเครือข่ายพ่อค้าแม่ขายพัฒนาตลาดสุขภาพเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มองว่า ตลาดสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคมี ตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้อาหารสุขภาพสามารถซื้อหาได้ง่ายมากขึ้นด้วย สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นางสุดา ปั้นประสม นักวิชาการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่เห็นว่า" ตลาดเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ สร้างความมั่นใจในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการขั้นตอนการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี ดังนั้น หากอยากให้อาหารปลอดสารพิษแพร่หลายมากขึ้น ก็ต้องช่วยกันอุดหนุนและบริโภคอาหารประเภทนี้ให้มากขึ้น
ความพยายามในการสร้าง "ตลาดสุขภาพ" ไม่ได้อยู่เพียงตลาดท้องถิ่น ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น หากยังรวมถึงตลาดนัด ที่พนักงานใช้จับจ่ายซื้อหาสินค้า เช่น ที่ตลาดท่าเรือคลองเตย นายราเชนทร์ หรั่งมะเริง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย บอกว่า ทางการท่าเรือกำลังปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือคลองเตยส่วนหนึ่งเพื่อจัดทำตลาดนัดจำหน่ายอาหารด้านสุขภาพดี เพราะมองเห็นได้ว่าผู้คนในสังคมเจ็บป่วยกันบ่อยมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการกินอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ จึงอยากเห็นคนในสังคมมีสุขภาพ ที่แข็งแรงที่เริ่มจากตัวเองก่อน ขณะที่ นายธนัทชาติ บุญประกอบจากประชาคมตลาดตลิ่งชัน บอกเช่นกันว่า อยากเรียกร้องให้ช่วยกันสนับสนุน ผักปลอดสารอาหารปลอดภัย ถึงแม้ว่าอาหารปลอดสารพิษ ทั้งผัก ผลไม้และ เนื้อสัตว์จะมีราคาแพงอยู่สักนิด แต่หากคิดถึงประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวแล้ว ก็คุ้มค่าอยู่มิใช่น้อย เพราะสิ่งที่คุณจะได้กลับมานั้นไม่ใช่แค่การมีสุขภาพดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดผลดีต่อคนรอบข้างและ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การพัฒนาตลาดสุขภาพไม่ได้อยู่เพียงพ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น แต่ผู้บริโภคเองก็สามารถช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการอุดหนุนซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอด สารเคมีเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง "ตลาดสุขภาพที่มี พ่อค้าแม่ค้าที่คำนึงถึงสินค้าปลอดภัย ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ