ตรวจแล็บโควิด-19 ผิดเวลา ผลลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ตรวจแล็บโควิด-19 ผิดเวลา ผลลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ thaihealth


แฟ้มภาพ


"คนไทยทุกคนต้องได้ตรวจโควิด-19ฟรี" เป็นสิ่งที่มีการเรียกร้องขึ้นในสังคมออนไลน์ ทว่าแท้จริงแล้ว การตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) เพื่อรู้ว่าติดโรคนี้หรือไม่ หากตรวจ "ไม่ถูกเวลา" ผลที่แสดง "เป็นลบ" ไม่ได้หมายถึง "ไม่ติดเชื้อ" แต่แปลได้เพียงว่า "ไม่เจอเชื้อ" เท่านั้น อาจเรียกว่า "ผลลบลวง"


ทั้งนี้ "ผลลบลวง" ไม่ได้หมายความว่า ผลตรวจผิดหรือเกิดความผิดพลาดในการตรวจ ที่ห้องแล็บแต่อย่างใด เพราะการตรวจเชื้อในห้องแล็บมีความแม่นยำ หากแต่เกิดจากการไปตรวจที่ "ผิดเวลา"ของคน ทำให้ แม้ผลแสดงว่าเป็นลบ ก็ไม่ได้แปลว่า คนๆ นั้น "ไม่ติดเชื้อ" หากแต่แปลผลได้เพียงว่า ช่วงที่ตรวจ "ไม่เจอเชื้อ" เท่านั้น


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า การตรวจแล็บกรณีโควิด-19 มี 2 วิธี คือ 1.การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ (Real-time RT PCR) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์ จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อน ในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจเฉพาะในห้องแล็บ 2.5 -3 ชั่วโมง ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บ อยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท


2.การตรวจจากการเจาะเลือด (Rapid test) แต่โควิด-19 เลือดไม่ใช่เป็นจุดที่มีเชื้อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดกรณีโรคนี้ไม่ได้เป็นการหาเชื้อ แต่เป็นการหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ใช้เวลาตรวจ 15-30 นาที ปัจจุบันเป็นการนำเข้าชุดตรวจราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมกำลังพัฒนาชุดตรวจให้อยู่ในราคาชุดละ 200 บาท


ประโยชน์ในการตรวจแล็บหลักๆ ได้แก่ 1.เอาไว้วินิจฉัยรักษาโรค เพื่อแสดงว่าคนนี้เป็นโรคหรือไม่เป็นโรค วิธีที่เป็นมาตรฐาน ใช้ทั่วโลก คือการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ หากผลแสดงว่าเจอเชื้อ แปลว่าเป็นโรค ก็ให้การรักษา และเมื่อให้การรักษาแล้วเชื้อหาย หรือหมดไปหรือไม่ 2.เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค กรณีพบผู้ที่มีเชื้อ ก็จะต้อง เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อให้คนอื่น ก็จะมีมาตรการกักตัว หรือแยกกัก 3.เป็นข้อมูล เชิงระบาดวิทยา เอาไว้ใช้ในการกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคต่างๆ หรือประโยชน์ในการฉีดวัคซีน


นายแพทย์โอภาส อธิบายเพิ่มเติม ถึงการแปลผลแล็บโควิด-19 ว่า วันแรกที่ ได้รับเชื้อถึงวันที่มีอาการ เรียกว่าระยะฟักตัว ของโรค หากตรวจแล็บด้วยวิธีการเชื้อ ในทางเดินหายใจ ในช่วงระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจแล็บ คือ ทำให้รู้ว่า "คนนี้ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการ" แต่การตรวจในช่วงเวลานี้ จะแปลผลค่อนข้างยากและโอกาสเจอเชื้อ ค่อนข้างน้อย หากตรวจแล้วผลเป็นลบ ก็บอก ได้ว่า "ไม่เจอเชื้อ" แต่ไม่ได้แปลผลว่า "ไม่ติดเชื้อ" เพราะส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีอาการแล้วถึงจะตรวจเจอเชื้อ


"การตรวจแล็บในระยะฟักตัวของโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ ผลที่เป็นลบก็บอกได้เพียงวันที่ตรวจไม่เจอเชื้อ แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่ติดเชื้อ ต้องดูต่อไปว่าในช่วงเวลาที่ยังไม่เกินระยะฟักตัวของโรค 14 วันนั้น มีอาการป่วยหรือไม่ หากป่วยก็ต้องไปตรวจแล็บใหม่อีกครั้ง ไม่ได้หมายความว่า เคยตรวจตอนที่ยังไม่มีอาการป่วยแล้วไม่ต้องไปตรวจซ้ำแต่อย่างใด ซึ่งการแปลผล จะต้องพิจารณาผลแล็บควบคู่กับอาการของผู้ป่วยทุกครั้ง ขณะที่หากไปตรวจแล็บในช่วงเวลาที่มีอาการแล้ว จะตรวจเจอเชื้อ 100 % จึงมีประโยชน์ในการวินิจฉัยและควบคุมโรค" นายแพทย์โอภาสกล่าว


นายแพทย์โอภาส อธิบายต่อว่า ผู้ที่ติดเชื้อ หลังจากมีอาการราว 5-7 วัน จึงจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยวิธี การเจาะเลือดได้ แต่หากตรวจจากเลือด ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีอาการใดๆ นั้น ภูมิคุ้มกัน ก็ยังไม่เกิดขึ้น การไปเจาะเลือดตรวจโดย ยังไม่มีอาการ หากผลเป็นลบก็จะแปลผลได้ว่า "ยังไม่มีภูมิเกิดขึ้น" ไม่ได้แปลว่า "ไม่ติดเชื้อ" เพราะอาจจะอยู่ระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ อาจจะติดเชื้อและมีอาการเกิดขึ้นทีหลังได้ แต่หากผลเป็นบวกแสดงว่า มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ก็แปลผลได้ว่า "คนนี้ติดเชื้อแล้วแต่เมื่อไหร่ไม่รู้"


ดังนั้น การเจาะเลือดตรวจในกรณีที่ยังไม่มีอาการใดๆ ก็เหมือนจะไม่มีประโยชน์ จึงควรเจาะเลือดตรวจหลังมีอาการป่วย 5-7 วัน "การแปลผลทุกครั้งต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข ไม่ควรตรวจเองและไม่ควรแปลผล เข้าข้างตัวเอง และจะต้องแปลผลแล็บ โดยไล่เลียงกับอาการป่วยของคนไข้เสมอ ไม่ได้แปลว่าตรวจทุกคนแล้วจะรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ เพราะฉะนั้น การตรวจทุกอย่าง ต้องมีวัตถุประสงค์ในการตรวจที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจให้ฟรี ทั้งในคนที่ต้องตรวจเชื้อทางเดินหายใจเพื่อวินิจฉัยโรคและตรวจเลือดเพื่อติดตาม การควบคุมโรค"นายแพทย์โอภาสกล่าว


หากเทียบสถานการณ์การพบผู้ป่วยในประเทศไทยที่ปัจจุบันมียืนยัน 212 ราย จำเป็นที่ทุกคนจะต้องไปตรวจแบบเจาะเลือด หรือไม่ นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การจะตรวจแล็บ ต้องดูว่าต้องการประโยชน์อะไร หากตรวจด้วยการเจาะเลือดแล้วไปตรวจในช่วง ที่ยังไม่มีอาการเป็นระยะฟักตัวก็ ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนนำเงินไปทิ้งเล่น หรือมีอาการเพียง 1 วันไปเจาะเลือด ตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น มาตรฐานการตรวจตอนนี้ยังเป็น การตรวจหาเชื้อจากทางเดินหายใจอยู่ เพราะเร็วที่สุด แม่นยำที่สุดและ นำไปควบคุมโรคได้ และตามที่องค์การอนามัยโลกหรือฮูแนะนำสำหรับ การเจาะเลือดตรวจนั้น เพื่อศึกษาทางระบาดวิทยา


"การตรวจแล็บมากไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี จะต้องดำเนินการ ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วยเสมอ อย่างเช่น เกาหลีใต้ตรวจแล็บมากก็ควบคุมโรค ได้ดีโดยมีมาตรการอื่นด้วย ขณะที่ ญี่ปุ่นตรวจแล็บค่อนข้างน้อย แต่ก็ควบคุมโรคได้ดีเช่นกัน เพราะมีมาตรการให้คนอยู่ในบ้าน ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด" นายแพทย์โอภาสกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรองห้องแล็บที่สามารถตรวจโควิด-19 ได้จำนวน 40 แห่ง มีศักยภาพตรวจได้วันละ 4,000-5,000 ตัวอย่าง แต่ปัจจุบันมีตัวอย่างส่งตรวจราว 500 ตัวอย่างต่อวัน และจะขยายห้องแล็บตรวจให้ได้ 100 แห่ง จะทำให้มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน


ท้ายที่สุด นายแพทย์โอภาส แนะนำประชาชนในการตรวจแล็บ โควิด-19ว่า ขอให้ประชาชนเช็คประวัติ ตัวเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ ของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการป่วย ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจฟรี ไม่ว่าตรวจแล้วผลจะออกมาติดหรือไม่ติดเชื้อก็ตาม แต่หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถรอได้

Shares:
QR Code :
QR Code