ตรวจเลือดก่อนมีลูก หาธาลัสซีเมีย
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย แนะคู่รักตรวจเลือดวางแผนก่อนมีบุตร ป้องกันลูกเกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมีย อันตรายถึงขั้นตาย ชี้ใช้สิทธิตรวจได้ตามชุดสิทธิประโยชน์
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังลูก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีการแตกตัวเร็วกว่าปกติทำให้มีอาการซีด สุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย ต้องให้เลือด หรือกินยาตลอดชีวิต มีปัญหาในการทำงาน การเรียนหากเป็นรุนแรงจะเสียชีวิต หญิงตั้งครรภ์และสามีที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียร้อยละ 25 ลูกในครรภ์จะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย และหากลูกในครรภ์มีภาวะทารกบวมน้ำ (hydropsfatalis) หญิงตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 80 จะมีโอกาสอาการครรภ์เป็นพิษมีอาการบวมและความดันโลหิตสูงและอาจเสียชีวิตได้
นพ.วชิระ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียสามารถป้องกันด้วยวิธี 3 เลือก เริ่มจากการเลือกคู่ หญิง-ชายวัยเจริญพันธุ์ควรเข้ารับการตรวจเลือด หากพบว่าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย ให้หลีกเลี่ยงการแต่งงานกับผู้ที่เป็นพาหะชนิดเดียวกัน เลือกครรภ์ หากคู่สมรสที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียประสงค์จะแต่งงานกัน ควรหลีกเลี่ยงการมีลูกด้วยการวางแผนครอบครัว แต่หากต้องการมีลูกต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการปรึกษาจากบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเลือกคลอดหากคู่สมรสทราบว่าลูกในท้องเป็นโรคธาลัสซีเมีย ต้องเข้ารับการปรึกษาเสนอทางเลือกในการมีลูกที่ปลอดโรค ปลอดภัย การเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐช่วงตั้งครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์และสามีจะได้รับบริการฟรีตามชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ ต้องรีบไปฝากครรภ์ทันที และขอรับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และเข้ารับคำปรึกษาเพื่อป้องกันการมีบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย
“ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็นพาหะ จะมีสุขภาพแข็งแรง ปกติและสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่จะมีความผิดปกติคือ มีพันธุ์ธาลัสซีเมียแฝงอยู่ และอาจถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ซึ่งการที่จะทราบว่าตนเองเป็นพาหะของโรคหรือไม่ ต้องตรวจเลือดที่โรงพยาบาลเท่านั้น และกลุ่มที่เป็นโรคจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจน เช่น ซีด ตาเหลือง อ่อนเพลีย ท้องป่อง ตับและม้ามโต ซึ่งจะต้องได้รับเลือดเป็นประจำทุกเดือน โดยความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมียมี 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอาการรุนแรงน้อย กลุ่มนี้จะมีอาการปกติ แต่จะซีดเหลืองเล็กน้อย เจ็บป่วยบ่อย และมีอาการดีซ่าน ซึ่งต้องให้เลือดทุกครั้งที่เจ็บป่วย 2) กลุ่มอาการรุนแรงมากแรกเกิดอาจจะยังไม่มีอาการ แต่จะแสดงเมื่ออายุ 3-6 เดือน โดยเด็กทารกจะตาเหลือง อ่อนเพลีย ตัวเตี้ย แคระแกรน ตัวเล็กและม้ามโต มีการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า หน้าผากตั้งชัน โหนกแก้มสูง ดั้งจมูกแบน ฟันยื่น ยิ่งอายุมากยิ่งจะเห็นได้ชัด ต้องให้เลือดบ่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องก็จะเสียชีวิตได้ และ 3) กลุ่มอาการรุนแรงสุด ทารกจะมีอาการบวมน้ำ คลอดลำบาก ซีด ตับและม้ามโต ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในครรภ์มารดา หรือหลังคลอด และแม่มีโอกาสครรภ์เป็นพิษ บวม ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ และอาจเสียชีวิตได้” นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียควรกินอาหารครบ 3 มื้อ ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ และไขมัน หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เลือด กินผักทุกมื้อ มื้อละ 1 ทัพพี และกินผลไม้ทุกวัน ดื่มนมวันละ 2-3 กล่อง นอนหลับอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 15-30 นาที เท่าที่ทำได้ ไม่เหนื่อยมากเกินไป หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีโอกาสกระแทกรุนแรง แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจฟันจากทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง กินยาโฟลิคและวิตามินรวมทุกวันเพื่อเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง