ดูแลสุขภาพคนคัดแยกขยะ ลดความเสี่ยงความเจ็บป่วย

กรมควบคุมโรคเดินหน้า “โครงการดูแลสุขภาพประชากรเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” เน้นดูแลสุขภาพพนักงานคัดแยกขยะ


ดูแลสุขภาพคนคัดแยกขยะ ลดความเสี่ยงความเจ็บป่วย thaihealth


นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ในประชาชนและคนทำงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายจากรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนของประชาชน


โดยจัดทำเป็น "โครงการการดูแลสุขภาพประชากรเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ" ซึ่งจะเน้น "ดูแลสุขภาพคนงานเก็บ คุ้ยเขี่ย ขายหรือรีไซเคิลขยะ" เพราะคนทำงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ เทียบกับกลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญต้องทำงานหนัก และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงานได้ง่าย


ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย ประมาณ 26.77 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2556) เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2555 ถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมูลฝอยได้รับการให้บริการเก็บขนและนำไปกำจัดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทั่วประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด 2,490 แห่ง เป็นสถานที่ที่มีการกำจัดขยะแบบถูกต้องเพียง 466 แห่ง (ร้อยละ 19) นอกจากนี้ ยังคงมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง จำนวน 6.9 ล้านตัน (ร้อยละ 26) เนื่องจากหลายพื้นที่มีปัญหาในการจัดการขยะดังกล่าว


นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือเครือข่ายระดับประเทศ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อร่วมกันดำเนินการเพื่อลดขยะและดูแลสุขภาพคนทำงานด้านขยะ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพในสถานบริการภาครัฐให้เชื่อมโยงกัน โดยจะดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด คือ 1.อุบลราชธานี 2.บุรีรัมย์ 3.กาฬสินธุ์ 4.สมุทรปราการ 5.กาญจนบุรี 6.นครศรีธรรมราช 7.พระนครศรีอยุธยา และ 8.ขอนแก่น ซึ่งมีกลุ่มเสี่ยงประมาณ 20,000 คน (500 -3,000 คนต่อจังหวัด) ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ อาจมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางสุขภาพจากโลหะหนักและสารเคมีตกค้างในร่างกายได้ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ กิจกรรมครั้งนี้จัดระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558 ครั้งแรกจะจัดที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 นี้


กรมควบคุมโรคมีเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย และบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีการจัดทำทะเบียน การบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและตรวจสุขภาพเบื้องต้น การให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง เช่น การทำแผลและฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก กรณีของมีคมบาดเจ็บขณะเก็บขยะ ได้รับอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น เป็นต้น ที่สำคัญทำให้การขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชาชน ประสบความสำเร็จและยั่งยืนต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422


 


 


ที่มา: http://www.thanonline.com


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code