ดูแลลูกวัยรุ่นช่วงสอบเข้าเรียนต่อ ไม่ให้เครียด

ที่มา: กรมสุขภาพจิต


แนะ 5 วิธี ดูแลลูกวัยรุ่นช่วงสอบเข้าเรียนต่อ ไม่ให้เครียด thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต ห่วงวัยรุ่นในช่วงของการสอบเข้าแข่งขันเรียนต่อ อาจทำให้เกิดความเครียด และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ แนะ 5 วิธีให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลลูกวัยรุ่นช่วงสอบไม่ให้เครียด พร้อมแนะแนวทางให้ลูกรู้จักสังเกตสัญญาณความเครียดของตัวเอง และสามารถผ่อนคลายความเครียดได้


       นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อของเด็กและวัยรุ่น อาจจะทำให้เกิดความเครียด และภาวะซึมเศร้าตามมาได้ โดยกระบวนการสำคัญในการสังเกตอาการและคัดกรองภาวะซึมเศร้า สามารถทำได้โดยตัววัยรุ่นเอง โดยแบบประเมินที่เหมาะสมกับวัยรุ่น ได้แก่ แบบประเมินภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น (PHQ-A) ที่เหมาะสำหรับเด็กและวัยรุ่น อายุ 11-20 ปี ซึ่งสามารถประเมินได้ด้วยตนเอง รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถนำไปใช้ในการสังเกตอาการและคัดกรองวัยรุ่นได้เช่นกัน โดยสามารถประเมินด้วยตนเองได้ที่ www.thaiteentraining.com หากประเมินแล้วมีอาการซึมเศร้า มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง ให้โทรรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาผ่านแฟนเพจสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ช่วง 14.30 – 22.30 น.


       อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลลูกวัยรุ่นช่วงสอบเรียนต่อ ไม่ให้ลูกเกิดความเครียดนั้น มี 5 วิธี ดังนี้  1. สังเกตอาการความเครียดของลูกที่อาจผิดปกติไปจากเดิม เช่น อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย หรือมีอาการทางกายที่มาจากความเครียด เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง  2. การให้กำลังใจ แสดงความเป็นห่วง และช่วยสนับสนุนให้ลูกมีเวลาพักผ่อน และผ่อนคลายความเครียด  3. เน้นการชื่นชมในความพยายาม ความขยัน มากกว่าการมุ่งเป้าที่ผลลัพธ์หรือผลการสอบ 4. ช่วยลูกแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ควรให้โอกาสลูกได้ผ่อนคลายความเครียด สลับกับการอ่านหนังสือสอบ เพื่อไม่หักโหมจนเกินไป และ 5. สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาด ปรับมุมมองให้รู้จักยอมรับ และพัฒนาตัวเองในอนาคต มุ่งเน้นว่า ชีวิตมีทางเลือกที่หลากหลาย การสอบไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรเอาผลสอบหรือผลการเรียนของลูกมาเป็นเงื่อนไขของความรัก ซึ่งพ่อแม่นับเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้ลูกวัยรุ่นผ่านพ้นประสบการณ์ชีวิตการเรียนได้อย่างมั่นคง


        สำหรับวัยรุ่นและคนทั่วไปนั้น สามารถใช้แนวทางการบริหารจัดการความเครียดพื้นฐานด้วย 2 ขั้นตอนง่ายๆ ได้แก่ 1. การรู้จักสัญญาณความเครียดของตัวเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่า ตัวเองเครียดเมื่อเกิดอาการทางกายบางอย่าง เนื่องจากอาการทางกายจะรับรู้ได้ง่ายกว่าอารมณ์ความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งหลายๆ คนอาจละเลย ไม่สังเกตตัวเอง ไม่ผ่อนคลายความเครียด รู้ตัวอีกทีอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักสังเกตสัญญาณความเครียดของตัวเอง สัญญาณร่างกายเมื่อเครียดแต่ละคนอาจแสดงออกไม่เหมือนกัน แต่อาการที่พบบ่อยๆ เช่น นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย หายใจแรง หายใจไม่อิ่ม ปวดหัว ไม่มีสมาธิ เหงื่อออกมือหรือเท้า ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก เมื่อเรารู้สัญญาณแล้ว จะต้องหาทาง ผ่อนคลายตัวเองทันที 2. การผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากความเครียด คือ ความตึง ความกดดัน ดังนั้น วิธีแก้คือการผ่อนคลายนั่นเอง ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีผ่อนคลายที่แตกต่างกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยจะต้องมีวิธีการผ่อนคลายที่เหมาะสมกับตัวเองสัก 3-5 อย่าง เช่น เล่าหรือระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง กินอาหารที่ชอบ นั่งอ่านหนังสือที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เป็นต้น การผ่อนคลายที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถที่จะผ่อนคลายในชีวิตประจำวันในทุกๆ วัน อย่างน้อย 30 นาที เพื่อผ่อนคลายอย่างเต็มที่ ทำในสิ่งที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข จิตใจจะสงบและสบาย อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code