ดูหนังดูละครย้อนดูตัว ‘เลียนแบบ?’ เรื่องเก่า..กลัวกันใหม่!
ระยะหลายวันที่ผ่านมา “ละครโทรทัศน์” เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหา “ชิงรักหักสวาทอย่างไม่ถูกครรลองคลองธรรม”ของตัวละครหลักฝ่ายหญิง กลายเป็นเรื่อง “ร้อนฉ่า” ทั้งในจอและนอกจอ ซึ่ง ณ ที่นี้ขออนุญาตไม่แจกแจงว่าเป็นละครเรื่องใด ช่องใด ใครแสดง แต่จะว่ากันถึงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการถกเถียงกันอยู่ นั่นคือ ‘การเลียนแบบ” สิ่งที่มีให้เห็นในละคร
“เด็กและเยาวชน” อาจเกิดการเลียนแบบ???
ทั้งนี้ ว่ากันในภาพรวมทั่วไปเกี่ยวกับหนังเกี่ยวกับละคร ในประเด็นที่ว่าเด็กและเยาวชนไทยอาจลอกเลียนแบบสิ่งที่ปรากฏในหนังในละครที่ได้ดู กับประเด็นนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่มีการถกเถียงในสังคมไทย มีมานานแล้ว เช่น กรณี “ความรุนแรง” หรือแม้แต่ “เบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งในทางจิตวิทยาก็เคยมีข้อมูลสะท้อนไว้
“การดำเนินชีวิตของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะ 5ประการคือ. 1. การขาดวิ่น ขาดวินัยในชีวิต 2. เอกลักษณ์สับสน ไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร ไม่มีเป้าหมายในชีวิต 3. อาการเอาแต่ใจ ค่านิยมต้องการเงินมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ชอบความสบาย 4. อารมณ์ร่วมกับมนุษยสัมพันธ์ ไม่มีทรรศนะชีวิตและทรรศนะสังคม ไม่รู้อะไรควรอะไรไม่ควร และเมื่อทำแล้วมีผลอย่างไรกับคนรอบข้างบ้าง และ 5. อาการทางเพศ ขาดการยั้งคิดถึงสังคมรอบข้าง” นี่เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยา ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม เคยสะท้อนผ่าน “สกูปหน้า 1เดลินิวส์” ไว้ อันอาจเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องการ “เลียนแบบละคร” ได้ อย่างเช่นเรื่องความรุนแรง ดร.วัลลภ บอกไว้ว่า ในทางจิตวิทยา กับเด็กๆ นั้น โดยทั่วๆ ไปเด็กจะมีการเรียนรู้ หากเด็กได้รับรู้ ได้เห็นความรุนแรง หรือสะเทือนขวัญ หรือเสียขวัญ เรื่องเหล่านี้จะฝังอยู่ในสมองส่วนลึกของเด็ก และเมื่อเด็กได้ดูละคร ดูหนัง ดูฉากที่มีความรุนแรง หรือฉากฆ่าตัวตาย ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นสิ่งที่ติดอยู่ในสมอง กระตุ้นจิตใต้สำนึก จนอาจทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามฉากในละครหรือหนังที่ได้ดู
“ยิ่งได้ดูมากๆ ก็ยิ่งเป็นการสะสม จนอาจทำให้เด็กรู้สึกอยากเลียนแบบ มีการทำตาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำไปโดยไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร และก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย”
นอกจากนี้ ดร.วัลลภ ยังเคยสะท้อนไว้ในเรื่องการลอกเลียน แบบละครอีกว่า เรื่องความดัง การมีชื่อเสียง การมีเงิน การมีอำนาจ รวมถึงเรื่องการที่ดูเก่ง หรือมีพรสวรรค์ สำหรับบทของตัวละคร หรือสำหรับผู้ที่รับบทในละคร นี่ก็อาจจะมีผลเกี่ยวกับการเลียนแบบบทบาทตัวละคร หรือเลียนแบบบุคคลที่รับบทในละคร
“ถ้าเกิดการมองว่าสิ่งไม่ดีเป็นดี ตรงนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็ก หรือกระตุ้นให้คนในสังคม เกิดสับสน และเกิดการลอกเลียนแบบได้” นักจิตวิทยารายนี้สะท้อนไว้ พร้อมทั้งยังแนะนำไว้ด้วยว่า
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา ผู้ปกครองต้องควบคุมดูแลบุตรหลาน อย่าให้เด็กดูหนังดูละครที่มีฉากไม่เหมาะสม และต้องสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือพูดว่าจะทำตามแบบในหนังในละคร ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเด็กๆ ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพจิตด้วย
ที่ว่ามาก็เป็นมุมของ “จิตวิทยา” แต่ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่เกิดกรณีวิพากษ์ละคร หรือหนัง หรือบทบาทในหนังในละคร ว่า “ไม่เหมาะสม” ในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็มักจะมีเสียงโต้แย้ง ทำนองว่าต้องดูอย่างพิจารณา ดูให้ถึงตอนจบ แล้วจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นการสร้างสรรค์สังคมไม่ให้ทำในสิ่งไม่ดีด้วยซ้ำไป อะไรประมาณนั้น ประมาณว่า “เป็นอุทาหรณ์สอนสังคม” ได้ และจุดนี้ก็นับว่าน่าสนใจ-ใช่ว่าไม่น่ารับฟัง
ทั้งนี้ นักวิชาการที่มีบทบาทในแวดวงทีวีเมืองไทย อย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ก็เคยสะท้อนเกี่ยวกับเสียงวิพากษ์เรื่องการที่เด็กและเยาวชนไทยอาจลอกเลียนแบบบางพฤติกรรมในหนังในละคร ไว้น่าคิด คือ
“ถามว่า เมื่อเด็กดูหนัง ดูละคร ถ้าจะมีการเลียนแบบ เด็กจะเลียนแบบพระเอกหรือจะเลียนแบบผู้ร้าย? เด็กจะเลียนแบบตัวแสดงที่ดูแล้วไม่ดีอย่างนั้นหรือ?”
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการท่านนี้ก็ยังระบุไว้ถึงบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่มีการสะท้อนไว้ในละคร โดยบอกประมาณว่า การจะให้พ่อแม่ผู้ปกครองคอยชี้แนะบุตรหลานอย่างใกล้ชิดนั้น ตรงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจจะแย้งว่าไม่มีเวลาจะมานั่งตอบคำถามหรือนั่งอธิบายให้ลูกหลานฟังได้ตลอดเวลา หรือถึงจะอธิบายไปเด็กเองก็อาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะแยกแยะได้ ดังนั้น ผู้ผลิตละครหรือผู้จัดรายการทีวีก็จะต้องระมัดระวังด้วย
ทางผู้ผลิต ผู้จัด ก็ต้องพอประมาณ พอสมควร อย่าเกินไป นี่ก็เป็นอีกส่วน-อีกมุมหนึ่งที่ ดร.เสรีเคยสะท้อนไว้ ซึ่งทั้ง 2มุมที่นักวิชาการรายนี้ว่าเอาไว้ ก็ล้วนแต่น่าพิจารณา และพูดถึงคำว่า “พอสมควร” คำนี้ก็ถือว่า “น่าคิด” เพียงแต่พอสมควรของแต่ละคนอาจ “ไม่เท่ากัน” ก็เลยมีกรณี “ร้อนฉ่าจากจอ” อยู่เป็นประจำ!!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์