ดูการบริหารจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนใน จ.ตาก

ที่มา : คมชัดลึก


ภาพจากเว็บไซต์จังหวัดตาก


ดูการบริหารจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนใน จ.ตาก thaihealth


การบริหารจัดการอาหารกลางวัน โรงเรียน 'เขตเมือง-ชนบท' จ.ตาก


ภายหลังจากที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย และโรงเรียนบ้านวังประจบ จ.ตาก เข้าร่วมโครงการ "เด็กไทยแก้มใส" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ปี 2557 มีผลการดำเนินในเกณฑ์ยอดเยี่ยมและได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ซึ่งมีการน้อมนำหลักการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้โดยบูรณาการงานและพัฒนาทางด้านต่าง ๆ จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพอาหารของนักเรียนได้อย่างยั่งยืน


ในปี 2561 จ.ตาก จึงประกาศเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการอาหารกลางวันคุณภาพในโรงเรียน เพื่อขยายผลให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดจำนวน 36 โรงเรียน ซึ่งจากการดำเนินงานมา 1 ปี พบว่า การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ และในปี 2562 จ.ตาก จึงจะยกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อน "ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้ เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ" ต่อยอดการดำเนินงานโครงการเด็กไทยแก้มใสให้ครบทั้ง 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน 2.ส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน ร้านค้า ออมทรัพย์ ส่งเสริมการผลิต 3.จัดบริการอาหารของโรงเรียนตามหลักโชนาการ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch 4.ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน 5.พัฒนาสุขนิสัยและส่งเสริมอนามัยนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.จัดบริการสุขภาพนักเรียน และ 8.จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการและสุขภาพ


แน่นอนว่าการเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการอาหารกลางวันคุณภาพในโรงเรียน โดยมีโรงเรียนในสังกัด อปท.เข้าร่วมทั้ง 36 แห่ง นั่นหมายถึงที่ผ่านมาการจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นไปอย่างดีเยี่ยม และพร้อมจะขยายผลไปยังโรงเรียนสังกัดอื่น หรือให้จังหวัดอื่นได้ศึกษารูปแบบของความสำเร็จนี้เพื่อนำไปปรับใช้


ดูการบริหารจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนใน จ.ตาก thaihealth


ร.ร.เทศบาลวัดดอนแก้ว เป็น 1 ใน 6 โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครแม่สอด ร่วมกับ ร.ร.วัดมณีไพรสณฑ์ ร.ร.เทศบาลวัดชุมพลคีรี ร.ร.เทศบาลวัดบุญญาวาส ซึ่งทั้ง 4 แห่ง ได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ส่วนอีก 2 แห่ง ได้แก่ ร.ร.เทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ร.ร.กีฬาเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยม ไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว โดยเทศบาลนครแม่สอดมีบริหารจัดการอาหารกลางวันโดยการจ้างเหมาทั้งหมด มี 2 รูปแบบ คือ 1.ประกอบอาหารจากข้างนอกเข้ามาส่งโรงเรียน และ 2.ให้ผู้รับเหมามาประกอบอาหารในครัวของโรงเรียน ซึ่ง ร.ร.เทศบาลวัดดอนแก้ว ใช้รูปแบบที่ 2


สาเหตุที่เทศบาลนครแม่สอดเลือกใช้รูปแบบการจ้างเหมา เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดแต่ละแห่งมีจำนวนเด็กมากกว่า 1,000 คน เท่ากับว่ามีเด็กนักเรียนในสังกัดเทศบาลนครแม่สอดมากกว่า 5,000 คน ดังนั้นการจะใช้รูปแบบอื่นจึงเป็นไปได้ยาก การจะให้โรงเรียนเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือให้ประกอบอาหารเองคงต้องใช้จำนวนบุคลากร งบประมาณ และเสียเวลาไปมากพอสมควร ดังนั้นคณะผู้บริหารเทศบาลนครแม่สอดจึงเลือกใช้รูปแบบการจ้างเหมา


อย่างไรก็ตามได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มข้นใน 3 ระดับ คือ คณะกรรมการระดับเทศบาล ซึ่งจะมีภาคีทุกภาคส่วนมาเป็นคณะกรรมการ และระดับต่อมาคือ คณะกรรมการระดับโรงเรียน ได้แก่ ผู้อำนวยการ คณะครู คณะกรรมการบริการสถานศึกษา จะประชุมและสุ่มตรวจอาหารที่ผู้รับเหมาทำมาส่งในแต่ละวัน และระดับต่อมา คือ คณะกรรมการร่วม ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และชุมชน จะเป็นคณะกรรมการร่วมในการสุ่มตรวจอาหารด้วยเช่นกัน


ดูการบริหารจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนใน จ.ตาก thaihealth


ดังนั้นการมีคณะกรรมควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึง 3 ระดับจึงทำให้อาหารกลางวันที่เด็กนักเรียนในสังกัดเทศบาลนครแม่สอดได้รับมีคุณภาพและมีคุณค่าตามหลักโภชนาการอย่างครบถ้วน


ขณะเดียวกันเป้าหมายในปีการศึกษา 2563 ทางเทศบาลนครแม่สอดจะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยมาประกอบอาหาร ต้องสามารถบอกถึงที่มาของแหล่งวัตถุดิบได้ และเทศบาลมีการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์พื้นที่รวมกว่า 400 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยป้อนเข้าสู่ระบบอาหารกลางวันของโรงเรียนได้ด้วย


ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครแม่สอดเป็นโรงเรียนในเขตชุมชนเมืองที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่การเกษตร ทำให้ไม่สามารถสร้างแหล่งอาหารภายในโรงเรียนได้ การสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยนอกเมืองเข้าสู่โรงเรียนจะช่วยให้เด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันยังมีโรงเรียนอีกแห่งที่มีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และแนวทางการจัดการอาหารกลางวันที่เป็นรูปธรรม คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจาตุรจินดา ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยสืบสานพระราชดำริโดยเฉพาะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนสร้างแหล่งผลิตอาหารไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผัก ผลไม้ การเลี้ยงปลา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบอาหารบริโภคภายในโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ได้ใช้ระบบจ้างเหมาแบบเฉพาะเจาะจง คือมีผู้รับเหมา โดยให้ซื้อวัตถุดิบจากโรงเรียนผ่านสหกรณ์ของโรงเรียน ถ้าไม่มีค่อยหาจากที่อื่นมาใช้ จากนั้นครูจะเป็นผู้รับวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองตามรายการที่ได้กำหนดไว้ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch ดังนั้นการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของ ร.ร.ตชด. จึงเป็นต้นแบบให้แต่ละโรงเรียนสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยด้วยตนเองเพื่อตอบโจทย์คุณค่าโภชนาการในอาหารกลางวันได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code