ดื่ม-กิน จากภาชนะพลาสติกปลอดภัยแค่ไหน?
อันตรายใกล้ตัวที่ต้องรู้เท่าทัน
คุณเคยสังเกตเห็นความผิดปกติของภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไหม? ไม่ว่าจะเป็นชามเมลามีนที่มีคราบเหลืองกระดำกระด่าง ลายพิมพ์ก้นจานเซรามิกที่หลุดล่อนไป ถ้วยพลาสติกที่สีซีดและบิดเบี้ยว ตลอดจนกล่องโฟมใส่อาหารร้อนๆ ที่เริ่มจะหลอมละลาย แล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ปลอดภัยจริงๆ?…….. ในฐานะที่คุณเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ก็ควรมีวิธีสังเกตเพื่อเป็นแนวทางก่อนซื้อและใช้ภาชนะพลาสติกเหล่านั้นด้วย
ภาชนะพลาสติก ซื้อง่าย ใช้สะดวกแต่ลำบากสุขภาพ!!!! อย่างที่รู้ๆกันว่าภาชนะพลาสติกเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ขายอาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีภาชนะบรรจุอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีสีสันสดใสหาซื้อง่ายราคาไม่แพง น้ำหนักเบา แถมยังไม่แตกหักง่ายอีกด้วย ในขณะที่บางครั้งผู้ผลิตไม่ได้คํานึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค และผู้บริโภคจํานวนไม่น้อยก็ไม่ได้ให้ความสนใจหรือไม่เคยได้รับรู้ว่าอาจมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายละลายออกจากภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร แล้วปนเปื้อนไปกับอาหารที่รับประทานเข้าไป อีกทั้งภาชนะเหล่านี้ก็สามารถตอบสนองรูปแบบชีวิตของคนเมืองได้อย่างดี แทนที่ภาชนะธรรมชาติแบบเดิมๆ ในอดีต เช่น ใบตองหรือใบบัว ที่นับวันจะสูญหายสวนทางกับความเจริญของเทคโนโลยี แต่ทราบหรือไหมว่าภาชนะบรรจุอาหารยุคใหม่ซึ่งใช้กันอย่างผิดวิธี ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่กำลังบั่นทอนสุขภาพของคนเราอย่างไม่รู้ตัว
จะรู้ได้อย่างไรว่าพลาสติกใส่อาหารชนิดใดเป็นอันตรายต่อร่างกาย….เพื่อบ่งบอกให้ผู้ซื้อรู้ว่าภาชนะพลาสติกที่บรรจุอาหารหรือของใช้นั้น ทำจากพลาสติกชนิดใด ผู้ผลิตจึงติดฉลากสัญลักษณ์ใต้ภาชนะเป็นรูปลูกศรสามเหลี่ยมล้อมรอบตัวเลขและมีอักษรย่อภาษาอังกฤษด้านล่าง สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจมากที่สุดคือ หมายเลขและอักษรย่อภาษาอังกฤษที่จะบ่งบอกว่าพลาสติกนั้นๆทำมาจาก 1 ใน 7 ชนิดพลาสติกดังนี้
pete ย่อมาจาก polyethylene terephthalate ethylene หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของขวดเพท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ระบุว่าขวดเพทเป็นขวดพลาสติกที่มีความปลอดภัยมากที่สุด และมีความคงทนแข็งแรงกว่าขวดน้ำพลาสติกอื่นๆ สินค้าที่ใช้พลาสติกเพท ได้แก่ ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลมน้ำมันพืช น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดพื้น เป็นต้น
hdpe ย่อมาจาก high density polyethylene ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกสีขุ่น ใช้บรรจุนม เนย ขวดแชมพูสระผม และถุงพลาสติกหิ้วสีทึบ
pvc หรือ v ย่อมาจาก polyvinyl chloride สินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมใช้คือ ขวดซอสต่างๆที่บีบได้ และขวดน้ำมันปรุงอาหาร
ldpe ย่อมาจาก low density polyethylene ใช้ผลิตเป็นฟิล์มถนจอมอาหาร อาหารแช่แข็ง หรือถุงหิ้วที่ใช้กับร้านขายของชำ
pp ย่อมาจาก polypropylene ใช้ผลิตกล่องพลาสติกที่ใส่ถนอมอาหาร ถ้วยซุป ถ้วยโยเกิร์ต หลอด ขวดนมเด็ก และพลาสติกที่ทึบแสง
ps ย่อมาจาก polystyrene ใช้ผลิตถาดขนมเบเกอรี่ แผงไข่พลาสติก ช้อนส้อมหรือถ้วยชามพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตโฟมใส่อาหาร
อื่นๆ ที่มักมีส่วนประกอบของ polycarbonate เป็นส่วนของการผลิตภาชนะพลาสติก เช่น ขวดนมเด็ก ขวดน้ำดื่มเกลือแร่ ขวดน้ำดื่มขนาด 5 แกลลอน ขอบฝากระป๋อง ฝาปิดถ้วยเครื่องดื่มร้อน และภาชนะพลาสติกไบโอ ที่ทำจากพืชเพื่อการย่อยสลายก็จัดอยู่ในหมวดนี้
สารพิษจากขวดน้ำและภาชนะพลาสติก รุนแรงเกินคาด!!!…พลาสติก คือโพลิเมอร์ (polymer) ชนิดหนึ่ง แต่เป็น โพลิเมอร์ชนิดที่สังเคราะห์ขึ้นมาเอง และเนื่องจากพลาสติกจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง ซึ่งอาหารก็จะมีทั้งความร้อน ความเย็น น้ำมัน ความเป็นกรดเป็นด่าง คุณสมบัติเหล่านี้อาจทำให้สารต่างๆ ในพลาสติกรั่วไหลออกมาและปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายและทำอันตรายต่อตัวเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นอันตรายแบบเรื้อรัง สะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคได้ในอนาคต เช่น โรคมะเร็งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน
โดยเฉพาะข่าวล่าสุดเกี่ยวกับสารเคมีชื่อว่า ไบฟีนอล เอ (biphenol a) หรือ บีพีเอ (bpa) เป็นส่วนประกอบที่ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรงและคงรูป สินค้าที่มีสารประกอบนี้ ได้แก่ ขวดพลาสติกที่มีส่วนประกอบจากพลาสติก polycarbonate เช่น ขวดนมเด็ก และผลิตภัณฑ์ใส่อาหารที่มี expoxy resin เคลือบด้านในอาหารกระป๋องต่างๆหรือจุกฝาขวด
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า สารเคมีอย่าง deha (di (2-ethylhexyl) adipate) สารประกอบในพลาสติกกลุ่ม pvc เมื่อสัมผัสถูกอาหารร้อนๆ ก็จะละลายออกมาเป็นอันตรายต่อตับ ไต ม้าม และเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็ง เช่นเดียวกับสาร styrene ที่อาจละลายปะปนกับพลาสติกประเภท polystyrene กลุ่ม ps ที่มีผลต่อระบบประสาทและสมอง สารพิษนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสะสมจนก่อให้เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เนื่องจากสารพิษนี้ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ estrogen จึงทำให้เกิดอาการแปรปรวนต่างๆได้
เลือกภาชนะพลาสติกใส่อาหารอย่างไรให้ปลอดภัย…..โอกาสที่สารเคมีในภาชนะพลาสติกทั้งหลายจะปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายคือการสัมผัสกับอุณหภูมิสูง ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
– ห้ามนำภาชนะพลาสติกประเภท polycarbonate อุ่นในไมโครเวฟ หรือหากใช้ฝาครอบพลาสติกเพื่ออุ่นอาหารก็อย่าให้ถูกอาหาร
– อย่านำถุงพลาสติกที่บรรจุเครื่องดื่มหรืออาหารแช่ช่องแข็ง หรือนำมาแช่น้ำร้อนเพื่อละลายน้ำแข็งหรืออุ่นอาหาร
– ลดการใช้ช้อนส้อมหรือแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋อง หรือการกินจากถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้เปลี่ยนมาใส่จานหรือชามแก้ว สแตนเลส และเซรามิกที่ทนความร้อนดีกว่า
– ซื้อขวดนมที่ระบุว่า “ปลอดสาร bpa หรือ bpa free หรือเลือกขวดนมที่ทำมาจาก polypropylene ก็ได้ และที่สำคัญอย่าอุ่นขวดนมในไมโครเวฟ แต่ให้แช่ขวดนมในน้ำอุ่นถึงร้อนแทน
– สำหรับภาชนะพลาสติกที่เขียนว่า microwave-safe หรือ microwavable นั้น เป็นพลาสติกที่ไม่ละลายหรือแตกเมื่ออุ่นในเตาไมโครเวฟ แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยต่อร่างกาย 100% เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อใช้อุณหภูมิขนาดนี้ สารจะออกมาปะปนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้หากนำไปอุ่นอาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยา ทำให้มีสาร lipophilic ออกมา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้
– การล้างขวดเพทเพื่อนำกลับมาใช้เติมน้ำใหม่นั้นไม่ควรเติมน้ำร้อนจัด และก่อนใช้ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง มิฉะนั้นละก็อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย หากสังเกตว่าขวดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สีขุ่น มีคราบเหลือง มีรอยบุบหรือแตกให้ทิ้งทันที
รู้ถึงอันตรายและวิธีป้องกันอย่างนี้แล้ว การเลือกใช้ภาชนะพลาสติกครั้งต่อไป…อย่าลืม ระวังตนเองด้วยการรู้จักใช้พลาสติกอย่างรู้เท่าทัน หรือรู้จักหลีกเลี่ยงไปใช้สิ่งของอื่นที่ปลอดภัยกว่า เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนทั้งหลายที่จะเข้าสู่ร่างกายและไปทำอันตรายต่อตัวเรา….แค่ใส่ใจดูแลตัวเองสักนิด สารพิษก็เข้าสู่ร่างกายเราไม่ได้แล้ว…..
เรื่องโดย : วีรญาน์ จันทร์นวล team content www.thaihealth.or.th
update 12-02-52