ดื่มอะไร? ดับร้อน (ใน)

ที่มา : www.greenery.org


ดื่มอะไร? ดับร้อน (ใน) thaihealth


อาการ ‘ร้อนใน’ หรืออาการที่ความร้อนในร่างกายไม่สมดุลกัน ส่งผลให้เกิดเป็นแผลในช่องปากและลิ้นอันเจ็บปวดทรมาน พานให้กินข้าวไม่อร่อย เจ็บคอ คอแห้ง บางคนอาจลุกลามไปถึงอาการท้องผูก ขี้ตาแฉะ และรบกวนจิตใจตามไปด้วย เราจะมาเรียนรู้เรื่องร้อนใน เพื่อผ่านเดือนแห่งความร้อนไปด้วยกัน


สาเหตุหลักๆ ของอาการร้อนในไม่ได้เกิดจากสภาพ ‘อากาศ’ แค่อย่างเดียว แต่สาเหตุที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘อาหาร’ ที่เราเลือกกินเข้าไปนั่นเอง


ตามหลักของแพทย์ฝั่งตะวันออก บอกว่าร่างกายของคนเรานั้นมีทั้งลักษณะที่เป็นหยิน (เย็น) และเป็นหยาง (ร้อน) ที่ต่างกันโดยกำเนิด เมื่อไหร่ที่คนที่มีลักษณะหยางมากกว่าหยิน กินอาหารที่เป็นหยางเข้าไป ทำให้ลักษณะหยางในร่างกายเพิ่มมากขึ้นจนไม่สมดุล คนๆ นั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหยาง หรืออาการร้อนในนั่นเอง


อาหารร้อน? หรือ อาหารเย็น?


ตามทรรศนะของคนจีน ไม่ได้วัดความร้อนความเย็นของอาหารกันที่อุณหภูมิภายนอก แต่แบ่งเป็นหยินและหยางเช่นกัน โดยอาหารประเภทหยาง (ร้อน) มักจะมีรสชาติที่เผ็ด รสจัด หรือรสเข้มข้น รวมไปถึงอาหารทอดทุกประเภท ข้าวเหนียว หรือแม้กระทั่งผลไม้ที่เราคิดว่าเย็น แต่จริงๆ แล้วมันร้อน เช่น ลิ้นจี่ ทุเรียน เงาะ ขนุน ลำไย เป็นต้น


ส่วนอาหารประเภทหยิน (เย็น) มักเป็นอาหารที่กินเข้าไปแล้วรู้สึกชุ่มคอ สบาย ส่วนใหญ่มักเป็นผักชนิดต่างๆ อาทิ กล้วย ถั่วเขียว เต้าหู้ แตงกวา ส้ม สาลี่ ฟักทอง เกลือ ผักโขม อ้อย ส้มจีน แตงโม มะเขือเทศ คึ่นฉ่าย น้ำมะพร้าว องุ่น มะกอก สับปะรด ผักกาดหอม ลูกพลับ เม็ดแมงลัก ฟัก ฯลฯ


ส่วนเรื่องอากาศ เป็นปัจจัยเสริมจากภายนอกที่จะส่งผลให้อาการร้อนในเกิดได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยฤดูร้อน อากาศร้อน ความเป็นหยางจะสูง ถ้าร่างกายมีลักษณะเป็นหยางนำ แล้วชอบกินอาหารหยาง พอมาเจอหน้าร้อนที่เป็นหยาง ก็จะทำให้อาการร้อนในเกิดได้ง่ายยิ่งขึ้น


ดื่มอะไร ดับร้อน (ใน)


วิธีป้องกันอาการร้อนใน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเราในชีวิตประจำวัน คือนอกจากจะต้องรู้จักว่าตัวเองร้อนหรือเย็นมากกว่ากัน ยังต้องรู้จักอากาศ และก็ต้องรู้ว่าตัวเราควรกินอาหารอะไร ถึงจะปรับสมดุลความร้อนในร่างกายให้เหมาะสมได้


หนึ่งในอาหารฝั่งหยินยอดฮิตที่คนนิยมกินกันเพื่อแก้ร้อนในและดับกระหายก็คือ ‘เครื่องดื่มสมุนไพร’ ลองมาดูกันว่าแต่ละอย่างหน้าตาเป็นยังไง มีคุณสมบัติอะไร และมีอะไรควรระวังบ้างรึเปล่า


1 น้ำเก๊กฮวย เย็นไม่เก๊กหวาน


น้ำเก๊กฮวยถ้วยใหญ่ๆ แช่เอาไว้อยู่ในตู้เย็นที่เราเห็นสีเหลืองๆ อ๋อยๆ ที่จริงแล้วได้จากการชงหรือต้มดอกเก๊กฮวยแห้งพันธุ์สีขาว ซึ่งมีทั้งแบบดอกใหญ่และดอกเล็ก ส่วนมากปลูกที่ประเทศจีน ส่วนดอกเก๊กฮวยพันธุ์สีเหลืองมักให้รสขม เลยนิยมเอาไปทำเป็นยาสมุนไพรมากกว่าเอามาชงดื่ม


นอกจากช่วยดับกระหาย ดอกเก๊กฮวย (Chrysanthemum) ยังมีลักษณะเป็นหยิน ดื่มแล้วแก้หรือป้องกันอาการร้อนในได้ แถมคุณสมบัติของสารในเก๊กฮวยยังช่วยป้องกันโรคได้หลายอย่าง ทั้งเบาหวาน โรคเลือด โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร โรคใดๆ อีกมาก แต่ข้อเดียวที่ต้องระวังคือ ‘น้ำตาล’ ที่คนมักผสมลงไปในน้ำเก๊กฮวยเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อย ทางที่ดีควรตระหนักไว้ว่า น้ำเก๊กฮวยที่ไม่หวานคือน้ำเก๊กฮวยที่ถูกต้อง!


2 น้ำหล่อฮั้งก้วย เย็นไม่ง้อน้ำตาล


หล่อฮั้งก้วยที่เราเห็นหรือได้ยินชื่อบ่อยๆ เวลาไปเยาวราช เป็นพืชสมุนไพรจีนที่อยู่ในวงแตง ความหมายในภาษาจีนแปลว่า ผลไม้ของพระอรหันต์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า longevity fruit หลายคนอาจไม่เคยเห็นหน้าตาว่าผลสีเขียวของมันนั้นมีลักษณะกลมเหมือนไข่เป็ด มีเปลือกแข็งแต่มีความเปราะ พอสุกแล้วเปลือกจะกลายเป็นสีดำๆ ปลูกได้ที่ตอนใต้ของจีนและภาคเหนือของไทย การแพทย์แผนจีนนิยมนำผลที่สุกแล้วไปลนไฟหรือตากแห้งแล้วเอามาต้มเป็นเครื่องดื่มแก้ร้อนในอย่างที่เราเคยเห็นกัน


เห็นหน้าตาไม่น่าพิศมัยอย่างนี้ แต่หล่อฮั้งก้วยมีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่ถูกค้นพบมาแต่โบราณ ช่วยผู้ป่วยที่มีอาการไอ หลอดลมอักเสบ และโรคทางเดินหายใจ รวมไปถึงทางเดินอาหาร แต่ในปัจจุบัน หล่อฮั้งก้วยยังถูกนำมาสกัดเป็นสารให้ความหวาน ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 250-300 เท่า จึงนิยมนำมาเป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานในอุตสาหกรรมอาหาร โดยที่ไม่ให้พลังงานและไม่ส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำตาลในกระแสเลือด เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้นจงจำไว้ว่าน้ำหล่อฮั้งก้วยหวานอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่น้ำตาลเพิ่มอีกนะ!


3 น้ำจับเลี้ยง เย็นจับฉ่าย


จับเลี้ยงที่เราหาซื้อได้ตามร้านขายยาจีน ถ้าแปลตรงตัวตามภาษาจีนแต้จิ๋วจะแปลว่าของเย็น 10 อย่าง พูดง่ายๆ ว่ามันคือการควบรวมยาสมุนไพรทั้งไทยและจีนจำนวน 10 ชนิดที่มีลักษณะเป็นหยิน (เย็น) เข้าไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ดอกงิ้ว ใบบัว รากบัว หญ้าคา เมล็ดเพกา เก๊กฮวย โหล่เกง เทียงฮวยฮุ่ง แซตี่ แห่โกวเช่า หล่อฮังก๊วย เฉาก๊วย ซึ่งจับเลี้ยงของแต่ละร้านก็จะมีสูตรส่วนผสมต่างไป แต่ก็ต่างจากนี้ไม่มากเท่าไหร่นัก


ส่วนสรรพคุณของจับเลี้ยงนี้ตรงตามชื่อ คือมันเกิดมาเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการร้อนในโดยเฉพาะ ไม่ต้องรอให้ร้อนในจนมีแผลในปาก ปากลิ้นเปื่อย มีฝ้า ขมคอ เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง ไอ ตาร้อนผ่าว ก็กินน้ำจับเลี้ยงได้ไม่เสียหายเลย แค่ต้องระวังเรื่องความหวานจาก ‘น้ำตาล’ เช่นเดียวกันกับน้ำเก๊กฮวย


4 น้ำมะตูม เย็นประโยชน์ตู้ม


ส่วนของมะตูมที่เราเอามาชงเป็นเครื่องดื่มกินกันคือผลแห้งของมันที่เอามาตัดเป็นแว่น แต่จริงๆ แล้วมะตูมเป็นผลไม้ที่มีเปลือกหนา แข็ง ผลกลมโต ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เนื้อผลจะมีความเหนียวข้น มีกลิ่นหอม และมีเมล็ดจำนวนมาก ออกผลช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์


นอกจากมะตูมจะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ดื่มแล้วช่วยให้ชุ่มคอ และดับกระหาย ในมะตูมสุกยังมีสารสำคัญคือ สารเพคตินและสารแทนนินที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย ช่วยสมานแผลและบรรเทาอาการเจ็บคอ แถมยังมีผลวิจัยออกมาว่าในผลมะตูมมีสารที่ยับยั้งมะเร็งต่อมไทรอยด์และไวรัสทั้งหลาย และช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะทั้งภายในและภายนอกได้อีกด้วยนะ แต่ข้อควรระวังคือน้ำตาลที่มักผสมอยู่ในน้ำมะตูมเช่นกัน


5 น้ำใบบัวบก เย็นแบบไม่ช้ำ


หลายคนอาจรู้จักใบบัวบกแค่ในมุมของการเป็นพืชสมุนไพรแก้ช้ำใน แต่จริงๆ แล้วสมุนไพรชนิดนี้มีประโยชน์ในการรักษาอีกหลากหลาย มีงานวิจัยว่าสารสกัดจากบัวบกมีผลต่อสมอง ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้ และที่สำคัญคือแก้ร้อนในได้ด้วย! เนื่องจากมีลักษณะเป็นหยิน (เย็น) การดื่มน้ำใบบัวบกจึงช่วยลดการเกิดอาการร้อนในได้ดีเลยล่ะ


ส่วนหน้าตาของใบบัวบกคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมากินกับน้ำพริกหรือเมนูอาหารต่างๆ แบบสดๆ อยู่แล้ว ด้วยกลิ่นเขียวที่เป็นเอกลักษณ์ และรสชาติที่หวานปนขม ทำให้พ่อค้าแม่ค้าแอบผสมน้ำตาลลงไปให้ดื่มง่ายขึ้น จึงต้องระวังเรื่องความหวานไม่ต่างกับน้ำแก้ร้อนในชนิดอื่นๆ


6 น้ำกระเจี๊ยบ เย็นแบบเปรี้ยวจี๊ด


น้ำกระเจี๊ยบที่เรากินกันทำจากกระเจี๊ยบแดง ซึ่งเป็นคนละพันธุ์กับกระเจี๊ยบเขียวที่เรากินจิ้มน้ำพริก บางคนก็เรียกกระเจี๊ยบแดงว่ากระเจี๊ยบเปรี้ยว เพราะรสเปรี้ยวของมัน ที่จริงแล้วดอกกระเจี๊ยบแดงมีสีชมพู ซึ่งพอร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงจะเติบโตขึ้นเป็นเปลือกสีม่วงแดงเข้มที่หุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน โดยผลแก่จะแตกออกเป็น 5 แฉก มีกลีบเลี้ยงสีแดงหนาชุ่มน้ำหุ้มผลไว้ นั่นแสดงว่ากระเจี๊ยบแดงที่เราเอามาต้มน้ำกิน ที่จริงแล้วเป็นส่วน ‘ดอก’ และ ‘กลีบเลี้ยง’ ของมัน


คุณสมบัติของกลีบเลี้ยงและดอกกระเจี๊ยบ คือมีฤทธิ์เย็น ให้รสเปรี้ยว ช่วยดับกระหายน้ำ แถมยังช่วยลดไข้ แก้ไอ แก้เสมหะขับน้ำดี รวมทั้งขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและในไต ขับเมือกมันออกจากลำไส้ลงสู่ทวารหนัก แต่ข้อเสียของกระเจี๊ยบคือมันเป็นกรดอ่อนๆ และมีรสเปรี้ยวเพียงอย่างเดียว จึงมีคำแนะนำให้จับคู่ต้มรวมกับสมุนไพรอื่น เช่น พุทราจีน (รสฝาดและหวานมาช่วยตัดรสเปรี้ยว) มะตูม (กลิ่นหอมและความหวานช่วยให้กลมกล่อม) ดีกว่าเติมน้ำตาลตั้งเยอะ!

Shares:
QR Code :
QR Code