ดึงโรงเรียนต้นแบบเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ “โรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

 

ดึงโรงเรียนต้นแบบเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ “โรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

 

สพฐ.ดึงโรงเรียนต้นแบบเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ “โรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เร่งผลิตคู่มือสร้างภูมิคุ้มกัน หวังเพิ่มเครือข่ายสถานศึกษาร่วมรณรงค์หาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเมา พร้อมหนุนครู-นักเรียนแกนนำช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้มาก…ด้านเยาวชนร้องขอ!!! นโยบายหนุนโรงเรียนปลอดอบายมุขทั่วประเทศ…

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสสส. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และกลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายวิถีพุทธ (กคพ.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการประกวดโครงงานคุณธรรมเยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง ให้เป็น  “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  เพื่อเป็นแหล่งในการแบ่งปันความรู้ในเชิงรุกให้กับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง และโรงเรียนที่ต้องการแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยมีครูและนักเรียนแกนนำจากทั่วประเทศ จำนวน    12 แห่ง เข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยไคร้ โรงเรียนป่าแดงวิทยา โรงเรียนบ้านแม่จ้อง โรงเรียนนารีรัตน์ โรงเรียนเวียงมอกวิทยา โรงเรียนศรีคีรีมาศ โรงเรียนพร้าวพิทยาคม โรงเรียนปากคะยาง โรงเรียนวัดกระบังมังคลาราม โรงเรียนปางอ้า โรงเรียนบ้านท่าเลื่อน และโรงเรียนมาบอมฤตวิทยา ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมกันนี้ภายหลังจากการอบรม เยาวชนกว่า 100 คนได้เดินทางไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจทำดีต่อไป จากนั้นได้เข้าพบนางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการศึกษาพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส ณ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอกำลังใจในการทำหน้าที่เป็น    นักรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหา และขอให้มีการสนับสนุนนโยบายโรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่และอบายมุขทุกโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศต่อไป 

คุณครูประนอม ดอนแก้ว ครูที่ปรึกษาโครงงาน โรงเรียนเวียงมอกวิทยา จังหวัดลำปาง ในฐานะครูแกนนำของชุมชนแห่งการเรียนรู้โรงเรียนต้นแบบ กล่าวว่า  กระบวนการของโครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยใช้หลักอริยสัจ 4 โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง และครูเป็นที่ปรึกษา ซึ่งประเด็นปัญหาด้านอบายมุข เหล้าบุหรี่ยาเสพติดถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออนาคตของเยาวชน โดยเฉพาะเหล้าบุหรี่เป็นประตูสู่ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ปัญหาที่เด็กพบ คือ         เพื่อนนักเรียนดื่มสูบเสพ หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และนักเรียนจำนวนมากมีผู้ปกครองที่ดื่ม นอกจากนั้น ยังพบว่า ในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่มีการดื่มในงานบุญประเพณี แต่ด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบโครงงานคุณธรรมฯ ที่โรงเรียนทำ     อย่างต่อเนื่องนั้น มีผลต่อการพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรอดจากอบายมุข เช่นเหล้า เบียร์ บุหรี่ สิ่งเสพติด  เช่น โรงเรียนนารีรัตน์ จ.แพร่ มีโครงงานแม่ผู้ชนะ โดยนักเรียนได้ศึกษาปัญหาการดื่มของผู้ปกครอง ของนักเรียนชั้น ม.4       จนนำมา ซึ่งกิจกรรมเชิญชวนพ่อแม่เลิกเหล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีนักเรียนเข้าร่วม 304 คน และด้วยพลังของลูกที่อยากให้พ่อแม่มีสุขภาพดี ก็สามารถทำให้พ่อแม่หลายท่านเลิกเหล้า หรือ ลดการดื่มลงได้

“การอบรมในครั้งนี้มีโรงเรียนที่มีประสบการณ์ดีๆ หลายโรงเรียน สำหรับโรงเรียนเวียงมอก จ.ลำปาง สามารถใช้กระบวนการกัลยาณมิตร ใช้แนวคิดลูกแกะจะล้อมหมาป่า แก้ปัญหาของเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกัน โรงเรียนบ้านท่าเลื่อน   จ.นครราชสีมา ใช้แนวทางโพธิสัตว์น้อย ชวนพ่อแม่เลิกเหล้า โดยให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา และพี่ๆ ห้องมัธยมขยายโอกาส ไปเชิญชวนให้พ่อแม่งดเหล้า ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวนักเรียนเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับโรงเรียน            วัดปากคะยาง จ.สุโขทัย ซึ่งประกาศได้ว่านักเรียนในโรงเรียนมีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะเผชิญหน้ากับอบายมุขได้ แต่ก็หวั่นใจว่า สังคมภายนอกยังไม่เอื้อให้พวกเขาได้เติบโตต่อไปตลอดรอดฝั่ง ส่วนทางภาคใต้โรงเรียนมาบอมฤต จ.ชุมพร           เคยเผชิญหน้ากับนักเรียนที่ทั้งดื่มเหล้า และเสพยา แต่ด้วยกระบวนการโครงงานคุณธรรมทำอย่างต่อเนื่อง ให้นักเรียนเป็นผู้คิดและร่วมทำ สามารถช่วยเหลือเพื่อนให้หลุดจากวงจรร้ายได้ เป็นต้น  ซึ่งควรได้รับการพัฒนาหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะทำให้โรงเรียนที่เป็นต้นแบบในการรณรงค์ เป็นศูนย์กลางในการแบ่งปันความรู้ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง และโรงเรียนที่ต้องการแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียน โดยน้อมนำคำพ่อสอน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีโรงเรียนจากทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง เข้าร่วมในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2555 ณ อาศรมวงศ์สนิท จ.นครนายก” ครูแกนนำของชุมชนแห่งการเรียนรู้โรงเรียนต้นแบบ กล่าว

ด้านนางสาวอภิศา  มะหะมาน ผู้ประสานงาน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวเพิ่มเติมว่า       การจัดตั้งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้  จะสะท้อนแนวคิดว่า การแก้ไขปัญหาจากอบายมุข เป็นกระบวนการเรียนรู้ไม่รู้จบ เพราะหากวันใดโรงเรียนขาดการเรียนรู้ ขาดการพัฒนาให้เท่าทัน พวกอบายมุขทั้งหลายก็จะกลับเข้ามาอีก ซึ่งตรงกับ    คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าต้องดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท และตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ             พระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยเช่นกัน กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีคุณครูและนักเรียนแกนนำ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ สามารถประสานความร่วมมือ และเป็นการเผยแพร่นวัตกรรม ความรู้ของแต่ละโรงเรียน โดยได้มีการผลิตออกมาเป็นคู่มือ เพื่อส่งให้กับโรงเรียน  ในเครือข่าย ตลอดจนโรงเรียนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ

“การดำเนินการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้โรงเรียนต้นแบบนี้มีการแบ่งช่วงเวลาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการประชุมปฏิบัติการ “จากคำพ่อสอน สู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้โรงเรียนปลอดเหล้า บุหรี่ ตามปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง” โดยมีการประสานความร่วมมือกับสพฐ.และกลุ่มกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายวิถีพุทธ ซึ่งจะมีการออกแบบกระบวนการเพื่อใช้ในการรณรงค์ภายในโรงเรียนและชุมชนโดยนักเรียนและครูได้ร่วมกันคิดและทดลองเพื่อนำไปใช้ได้จริง พร้อมสร้างครูเพื่อเป็นแนวร่วมและมีนักเรียนที่เป็นแกนนำมากขึ้น ส่วนระยะที่สอง จะมีการต่อยอดการดำเนินงานในภาคเรียนที่ 2 โดยมีการติดตาม ความรู้ ความก้าวหน้า พร้อมหนุนเสริมการสร้างเครือข่ายโรงเรียน จากนั้นจะมีการประชุมถอดบทเรียน การดำเนินงาน เพื่อพัฒนาต่อ ในช่วงหลังปิดภาคเรียนและจะมีการจัดทำ เอกสารเผยแพร่นวัตกรรมเพื่อเป็นคู่มือใช้ประกอบการทำงานรณรงค์ภายในโรงเรียนต่อไป”  ผู้ประสานงาน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าว

 

 

ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)

Shares:
QR Code :
QR Code