ดึงพลังมหาวิทยาลัยปฏิรูปประเทศ ชูโมเดล “1ม.1จังหวัด”
เมื่อวันที่ 2สิงหาคม ที่อิมแพคเมืองทองธานี มูลนิธิพัฒนาไท สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีระดมความเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ โดยมีผู้บริหารจากมหาวิทยาของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน เข้าร่วมกว่า 150 คน
นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ร่วมสร้างประเทศไทย:ปฏิบัติการโดยมหาวิทยาลัยเพื่อแก้วิกฤตชาติ”ว่า มหาวิทยาลัยเป็นขุมพลังทางปัญญาขนาดใหญ่ที่สุด เรามีมหาวิทยาลัย 100 กว่าแห่ง มีนิสิตเป็นแสนคน มีนักวิจัย อาจารย์ และบุคลากรต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันวิกฤตชาติที่เป็นวิกฤตที่สุด มหาวิทยาลัยจะใช้พลังของตนในการแก้ไขวิกฤตชาติได้อย่างไร มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องพลิกมุมมองจากมุมมองจากทางวิชาการมาสู่มุมมองทางสังคม โดยมองจากข้างนอกเข้ามา จะเห็นเรื่องที่น่าทำไปหมด
นพ.ประเวศ กล่าวว่า จุดวิกฤตที่สุดในสังคมปัจจุบันคือ การขาดความเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากขาดความเป็นธรรมแล้ว คนจะแตกแยก ซึ่งในสังคมขาดความเป็นธรรมในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และมีความเหลื่อมล้ำ โดยช่องว่างของสังคมไทยระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่ประเทศนอร์เวย์ มีช่องว่างห่างกัน 4 เท่า และไม่ต้องการห่างกันมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น เพราะช่องว่างเหล่านี้จะสัมพันธ์กับตัวเลขอาชญากรรม ขณะที่ระบบบริการสาธารณสุขแม้จะมีโครงสร้างบริการทุกตำบล แต่ยังพบลูกคนจนตายมากกว่าลูกคนรวยถึง 3 เท่า
นพ.ประเวศ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณของความรุนแรงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งประกอบด้วย โครงสร้างทางจิตสำนึกที่ขาดความเป็นธรรมจึงต้องเปลี่ยนจิตสำนึกใหม่ โครงสร้างทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรและกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โครงสร้างการพัฒนาประเทศที่จากเดิมเริ่มจากฐานข้างบนให้โตเพื่อกระเด็นลงข้างล่าง ทำให้เกิดช่องว่างและปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมืองที่มุ่งแต่ประชาธิปไตยระดับชาติ ซึ่งพัฒนามากว่า 80 ปี แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีฐาน ดังนั้นการพัฒนาต้องมาจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ เช่นเดียวกับโครงสร้างทางการศึกษาที่ทำแต่ข้างบน สอนให้คนจบปริญญาตรี แต่ไม่สร้างคนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นแบบบูรณาการและไม่ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา ซึ่งในประเทศเยอรมันกลับให้ความสำคัญ เพราะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้นการจัดรูปใหม่ของโครงสร้างในการศึกษาจึงต้องทำ 3 ด้านคือ 1. ต้องสร้างจากชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน 2. สร้างอาชีวะศึกษา โดยให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมในระบบการศึกษา และที่เหลือคือการศึกษาเพื่อวิชาการ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ตลอดการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศมา 1 ปีครึ่ง ตนมีการประชุมระดมความคิดเห็นและสรุปได้ว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ คือ การสร้างจิตสำนึกใหม่ที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูป และสร้างฐานคือชุมชนท้องถิ่นให้มีความมั่นคง โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็สถาบันทางการศึกษา มีความเป็นกลางและมีปัญญามากที่สุด ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเคราะห์และกำหนดนโยบายสาธารณะเพราะนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่กระทบกับทุกองคาภยพของสังคม หากนโยบายสาธารณะไม่ดีคนในสังคมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอาจคุ้นเคยกับการสอนวิชาการ แต่ต่อไปต้องเปลี่ยนมุมมองเพื่อหาวิธีไขกุญแจ ปลดล็อคเพื่อเปิดพลังของสังคมแก้วิกฤติชาติ โดยการปฏิรูปประเทศ โดยมหาวิทยาลัยใช้สังคมเป็นตัวตั้งก็จะเห็นถึงความต้องการ สามารถทำให้การจัดการศึกษาในท้องถิ่นชุมชนเข้ารูปเข้ารอย และตรงกับความต้องการมากขึ้น
ประธานสมัชชาปฏิรูป กล่าวอีกว่า ตนเชื่อมั่นว่าหากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน จะเกิดความร่วมมือและเห็นผลได้ภายใน 5 ปี โดยแนวทางการทำงานของมหาวิทยาลัยในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพื่อไปสู่เป้าหมาย หนึ่งมหาวิทยาลัย ต่อหนึ่งจังหวัด นั้น ประกอบด้วย 1.สำรวจข้อมูลจังหวัด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผน ความเข้าใจ 2.ส่งนักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้าน ไม่ใช่แค่การไปออกค่ายอาสาเท่านั้น แต่ต้องลงลึกไปคลุกคลี กินนอนกับชาวบ้านเพื่อเข้าใจวัฒนธรรม อาทิ ส่งนักศึกษาไปนอนบ้านละ 1 คน 3.ร่วมทำแผนชุมชน โดยเมื่อนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านและชุมชน ก็จะดึงอาจารย์เข้าไปร่วมด้วย 4.พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เมื่อมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมก็จะรู้ว่าควรมีการเชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยีกับชุมชนได้อย่างไร ซึ่งเป็นตัวกระทุ้นให้เกิดการวิจัยในมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย 5.ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า 6.สังเคราะห์ประเด็นนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 7.สื่อสารกับชุมชน และสังคมในภาพกว้าง ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจและเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง 8.ผลิตกำลังคนที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ 9.มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดการความรู้ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการทำงานร่วมกับพื้นที่ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยควรมีระบบการจูงใจให้กับอาจารย์ที่ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน อาทิ การให้คุณค่าทางวิชาการ โดยนำผลงานที่ดำเนินงานร่วมกับท้องถิ่นไปเลื่อนตำแหน่งวิชาการได้ด้วย รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรจัดตั้งคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นหน่วยงานเฉพาะในการขับเคลื่อนการทำงานด้านปฏิรูปด้วย
ผศ.ดร.
ที่มา:สำนักข่าว สสส.
Update:3-08-53
อัพเดทเนื้อหาโดย :คีตฌาณ์ ลอยเลิศ