ดึงผู้ชายร่วมยุติความรุนแรงเด็ก สตรี
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
พม. เตรียมคิกออฟหยุดความรุนแรงในเด็ก สตรี และครอบครัว ดึงผู้ชายมีส่วนร่วม เชิญ "บิ๊กตู่" ประกาศเจตนารมณ์ 23 พ.ย.นี้ ก่อนเดินรณรงค์จาก พม.ถึงศาลาว่าการ กทม.วันที่ 25 พ.ย.
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ ศ.นพ.รณชัย คงสกุล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ดร. นรีมาลย์ นีละไพจิตร อาจารย์โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และ นางสมพร โชติวิทยธารากร ผู้จัดการโครงการฯ แถลงข่าว ในประเด็น “ความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว คือ แนวคิดของสังคม เช่น ค่านิยม ความเชื่อ จารีตที่ยึดถือกัน อย่างผู้ชายเป็นใหญ่ที่เชื่อมโยงกับความคิดว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ความสำคัญในการรักษาครอบครัว การแก้ไขแนวคิดทางสังคมดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของ ทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” สค.จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนประจำทุกปี เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างกระแสทางสังคมในการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีผลกระทบทั้งต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ในปี 2561 สค. ได้กำหนดสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “ He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” มุ่งส่งเสริมผู้ชายให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงฯ ในวันศุกร์ที่ 23 พ.ย. 2561 เวลา 08.30 – 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงฯ ในปี 2562 และจะจัดงานเดินรณรงค์ยุติ ความรุนแรงฯ ในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย. 2561 เวลา 13.00-18.00 น. ณ ลานพระประชาบดี พม. ถึง ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,000 คน ประกอบด้วย นักเรียนนายร้อยตำรวจ ทหารจากกองบัญชาการทหารบก กองบัญชาการทหารเรือ กองบัญชาการทหารอากาศ นักเรียน/นักศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในการนี้ ทุกจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดงานรณรงค์ฯ พร้อมกันทั่วประเทศ (KICK OFF) ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ด้วย
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิสตรีเป็นแนวทางสากลที่ทั่วโลกและรวมทั้งสังคมไทยต่างยอมรับและตระหนักให้ความสำคัญ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายสร้างมาตรการป้องกันและคุ้มครองตามกฎหมายทว่า สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบันยังเกิดขึ้นทุกวันและที่สำคัญ ระดับการใช้ความรุนแรงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี2559 องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยติดอันดับสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงแนวโน้มของมาตรการต่างๆที่ดำเนินการไปแล้วและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่างๆในการดำเนินงานต่อไปศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้จัดทำเครื่องมือที่ได้มาตรฐานและดำเนินการสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือน พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุก ร้อยละ 34.6 ความรุนแรงทางด้านจิตใจมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 (ร้อยละ32.3) ความรุนแรงทางร่างกายพบประมาณ ร้อยละ10 และความรุนแรงทางเพศ มีประมาณ ร้อยละ 5
ดร.นรีมาลย์ ได้กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงทางเพศ กลุ่มตัวอย่างที่เคยถูกใช้ โดยในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 93 หรือเกือบทั้งหมดของผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศในลักษณะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจและประมาณ 1ใน4 ถูกใช้กำลังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีการถูกกระทำลวนลาม อนาจารและทำกิจกรรมทางเพศที่ไม่ชอบ
นางสมพร กล่าวว่า การรับรู้ การจัดการและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงพบว่า รับทราบว่ามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 64.4 แต่ส่วนใหญ่ใช้ความอดทนในการแก้ปัญหา กลุ่มตัวอย่างที่เคยขอความช่วยเหลือมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่น่าสังเกตคือผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯส่วนมากที่ไม่ไปขอความช่วยเหลือ คิดว่าความรุนแรงฯเป็นเรื่องส่วนตัว ครึ่งหนึ่งของครอบครัวที่มีความรุนแรงคิดว่า เป็นความผิดของทั้งสองฝ่ายคือทั้งผู้ใช้ความรุนแรงและผู้ถูกกระทำ