ดึงญี่ปุ่นช่วยยกระดับการเกษตรไทยสู่ 4.0
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ
สทอภ. กระทรวงเกษตรฯ และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด พัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ยกระดับการเกษตรไทยสู่ 4.0
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ทำพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ณ ห้อง Jupiter 12 อาคาร Impact Challenger เมืองทองธานี มุ่งพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ณ อิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ และการดำเนินงานจัดทำความร่วมมือด้านการวิจัยและกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันภายใต้หลักการต่าง 8 ด้าน ได้แก่
1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ 2) การจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ 3) การพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ 4) การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะในด้านการผลิต 5) การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลเกษตรแบบใช้สมองกลฝังตัว 6) การจัดสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ 7 ) ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสามฝ่าย ให้ความสนใจร่วมกัน และ 8) ความร่วมมือในกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถของนักวิจัย
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายรัฐบาล สอดคล้องตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งยกระดับการพัฒนาศักยภาพของประเทศหลากหลากมิติในทุกรูปแบบและทุกระดับ เพื่อสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในและภายนอก รวมทั้งการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะมาเพิ่มศักยภาพในการผลิต เพื่อสร้างมูลค่า และยกระดับภาคการผลิตทางการเกษตรของไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สร้างความมั่นคงให้แก่ภาคเกษตรที่อยู่บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
จากเหตุข้างต้น นายณรงค์ระบุว่า จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทางเกษตร ปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรสมัยใหม่และการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งอาศัยการบูรณาการวิทยาการหลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตแบบแม่นยำ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรกลเกษตรทันสมัย การบริหารจัดการฐานข้อมูลแบบอัจฉริยะ รวมทั้งต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลากรด้านวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายปรับรูปแบบเกษตรกรรม โดยส่งเสริมให้เกษตรกรนำวิทยาการ เทคโนโลยีการเกษตรเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการเกษตร ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องจักรกลเกษตร เซนเซอร์เทคโนโลยี เช่น ข้อมูลจากดาวเทียม และ UAV / ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GNSS / สถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
"ทั้งนี้ เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เช่น การติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก การคาดการณ์และเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิตพืชจากพิบัติภัยธรรมชาติและศัตรูพืช การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตร โดยขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ ได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการวางรากฐาน ระบบการทำการเกษตรอัจฉริยะได้อย่างเป็นรูปธรรม ของประเทศไทย"
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และจิสด้า ร่วมประชุมหารือกับมหาวิทยาลัย Hokkaido ในกรอบความร่วมมือการบริหารจัดการด้านการเกษตรเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม Geo-informatics หรือเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลากร รวมทั้งตลอดจนด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งมหาวิทยาลัย Hokkaido มีความก้าวหน้าอย่างมากด้านการเกษตรอัจฉริยะในระดับโลก และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศ (Space Information Technology) โดยประสบความสำเร็จทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการในการบริหารจัดการเกษตรแบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของจังหวัดฮอกไกโด
"ในเวลาต่อมา ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันปฏิบัติการทดสอบรถแทรกเตอร์ไร้คนขับหรือ Unmanned tractor ในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย ภายใต้โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผลิตพืชเศรษฐกิจนำร่องในมันสำปะหลังและข้าวของเกษตรกร ที่จังหวัดนครราชสีมาและกำแพงเพชร ดำเนินการโดยคณะกรรมการโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการบูรณาการทำงานในรูปแบบประชารัฐ โดยมหาวิทยาลัย Hokkaido ได้ให้การสนับสนุน Prof. Dr. Noboru Noguchi ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart Agriculture มาร่วมปฏิบัติการ และสนับสนุนรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ ให้ทดลองใช้ในโครงการฯ ดังกล่าวด้วย
ส่วนนางสาวสุภาพิศ ผลงาม รองผู้อำนวยการสทอภ. กล่าวว่า สทอภ.ได้ดำเนินกิจกรรมด้านระบบดาวเทียมเพื่อการนำทาง Global Navigation Satellite System (GNSS) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีการร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรได้นำระบบ GNSS แบบพิกัดแม่นยำสูงมาประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีด้านนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ประหยัดเวลาและแรงงาน ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในยุคThailand 4.0 และรองรับเกษตรกรรม 4.0 รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตเพื่อดึงลูกหลานเกษตรกรกลับมาประกอบอาชีพถิ่นฐานเดิมได้