ดีอีหลีบ้านเฮา ปั่นปันสีเขียว
ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์ ความสนุกของเด็กๆ ที่นี่เคยเป็นแค่การนั่งหน้าโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในยุคที่โลกในหน้าจอมีแรงดึงดูดมากกว่าสิ่งแวดล้อมในโลกจริง
จนกระทั่ง ยอดเจริญพงศ์ ชูเลิศ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่ตำบลจีกแดก อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เขาทำให้เด็กๆ รู้ว่าความสนุกที่อยู่นอกจอสี่เหลี่ยมยังมีอีกมากมาย และสร้างได้ด้วยตัวเราเอง ตามโครงการ 1 ชุมชน 1 พื้นที่สร้างสรรค์ สนับสนุนโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
ใต้ร่มเงาของต้นมะขามต้นใหญ่ มีเรือนไม้ไผ่หลังเล็กที่เจริญพงศ์ปลูกเองบนเรือนเปิดโล่งที่กว้างแค่เดิน 3 ก้าวนี้ มีหนังสือที่อัดรวมกันแน่นอยู่บนชั้นมากกว่าสองร้อยเล่ม
บ้านมีต้นมะขาม ก็เห็นว่ามันน่าจะเล่นรอบๆ ใต้ต้นมะขามนี้ได้ เลยทำกระท่อมสมุด ขึ้นมาก็มีเด็กมาเล่น มาอ่านหนังสือบ้าง มันก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้น
ภาพแบบนี้เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว ในวันธรรมดา เด็กๆ จะพากันมาที่นี่หลังจากเลิกเรียน แต่จะมีผู้คนหนาตาในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่ห้องสมุดประจำชุมชนเท่านั้น แต่มีกิจกรรมหมุนเวียนหลากหลายตามความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ทำผ้ามัดย้อม ทำขนมพื้นบ้าน ทำของเล่นต่างๆ โดยใช้วิทยากรในชุมชนมาสอน
จากที่มีเด็กๆ แวะเวียนเข้ามาตอนเริ่มแรกเพียง 20-30 คน ทุกวันนี้ลานใต้ต้นมะขามแห่งนี้มีเยาวชนเปลี่ยนกันเข้ามาใช้สถานที่มากกว่า 100 คน ตั้งแต่เด็กเล็กชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยม ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ที่สนใจมาร่วมทำกิจกรรมกับลูกๆ
ไม่เพียงกระท่อมสมุด ที่นี่ยังมีเรือนเพาะรัก เป็นเรือนเพาะชำหลังใหญ่จุด้วยต้นไม้พื้นเมืองนานาพันธุ์ ทั้งต้นใหญ่ต้นเล็กหลายร้อยต้นเรียงแถวไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่ละแถวปักชื่อคนปลูกเอาไว้ เป็นผลงานของเด็กๆ ที่พากันมา ปลูกต้นไม้แลกเงิน
โดยชวนเด็กมาเพาะต้นไม้ต้นละ 1 บาท ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเด็กจะเอากล้าไม้มาเก็บมาจากวัดบ้าง จากโรงเรียนบ้าง บางคนมาถึงกับเปลี่ยนชุดเข้าเรือนเพาะรักเอาถุงดำมาตักๆ ดิน เอารถเข็นไปใส่มาไว้ตรงล็อกของตัวเอง แล้วก็ทำบันทึกการปลูกต้น ไม้แต่ละวันว่าวันนี้ปลูกได้กี่ต้น ทุกเดือนก็จะเปิดธนาคารออมสินสีเขียว นับจำนวนต้นไม้ที่ปลูกได้
สมมติได้ 120 ต้น ก็ 120 บาท เขาจะมีสมุดบัญชีธนาคาร บางคนตอนนี้มีเงิน 200-300 บาท จากการที่ปลูกต้นไม้แค่ต้นละบาท เจริญพงศ์อธิบายแนวคิดในการทำงาน ฟังเป็นเรื่องสบายแต่ความจริงแล้วลำบากกว่านั้น
ปลูกก็ต้องมาดูด้วย หญ้าขึ้นก็ต้องถอน ต้องดูแลให้เขาโตไปด้วย จนกว่าจะเอาไปปลูกคุณถึงจะหมดภาระกับต้นไม้ต้นนี้ ถ้าเกิดตายก็ต้องมาปลูกซ่อม เขาก็จะได้เห็นว่าถ้าปลูกแล้วต้องใส่ใจ ต้องดูแล ถ้าตายต้องเสียเวลาไปปลูกใหม่ กว่าจะโตนะ มันเป็นกระบวนการที่เขาได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ต้นไม้เอาไว้ปลูกในชุมชนด้วย ผมเชื่อว่าทำบ่อยๆ เขาจะเกิดความรักต้นไม้ รักธรรมชาติ เป็นการปลูกฝังโดยที่เขาไม่รู้ตัว
เงินค่าปลูกต้นไม้ของเด็กๆ ส่วนหนึ่งได้รับบริจาคจากชุมชน แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากกิจการที่เด็กๆ ทั้งชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ร้านปั่นดี คือชื่อของร้านซ่อมจักรยานที่มีเด็กเป็นทั้งช่างซ่อมและผู้จัดการร้าน ตั้งอยู่หน้าปากซอยทางเข้ากระท่อมสมุด
ทุกเช้าวันเสาร์ต้นเดือน เยาวชนนับร้อยคนจะขี่จักรยานของตนเองที่ได้รับการดูแลรักษานำเอากล้าไม้ที่เพาะขึ้นมาอย่างดีไปปลูกลงดินตามที่ต่างๆ ในตำบลจีกแดก
โครงการปั่นปันสีเขียว เป็นโครงการที่พาเด็กๆ ปั่นจักรยานไปปลูกต้นไม้เดือนละครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีต้นไม้ที่ปลูกไปแล้วกว่า 1,200 ต้น และจะปลูกทุกเดือนให้ได้มากกว่า 6,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 300 ไร่
กล้าไม้ส่วนใหญ่ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้จังหวัดสุรินทร์ สถานที่ปลูกต้นไม้มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นที่ที่มีคนดูแลสม่ำเสมอและไม่มีการบุกรุกทำลาย
ทุกคนบนโลกสามารถได้รับอากาศจากต้นไม้ที่เราปลูก ถึงแม้ต้นไม้เหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในบ้านของเรา แต่ต้นไม้ที่นี่ก็ฟอกอากาศให้บ้านเรา และให้คนที่กรุงเทพฯ ด้วย เจริญพงศ์บอกกับเด็กๆ ที่นั่งฟังอย่างตั้งใจ ก่อนทุกคนจะแยกย้ายไปช่วยกันขุดหลุมเอาต้นไม้ลงปลูก อย่างเช่นวันนี้เป็นพื้นที่ของโรงเรียนบ้านละเอาะ
น้องเฟม จิรภัทร สืบเพ็ง นักเรียนชั้นป.3 โรงเรียนบ้านละเอาะ ไม่ได้ปั่นจักรยานมาด้วย แต่มารอที่โรงเรียนแต่เช้าเพื่อจะปลูกต้นไม้พร้อมเพื่อนๆ วันนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้วรวมสิบกว่าต้น เธอบอกว่าชอบปลูกต้นไม้มาก ไม่รู้ว่าเพราะอะไร บอกได้เพียงมีความสุขที่ได้ปลูก
หรือ เด็กหญิงดวงกมล นักเรียนชั้นป.4 บอกว่า ฉันได้ปลูกต้นไม้ที่โรงเรียนของฉัน รู้สึกมีความสุขมากๆ ถึงจะต้องตากแดดก็ตาม เมื่อต้นไม้โตขึ้นก็จะให้ร่มเงาแก่พวกเราทุกคน แถมยังช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย
ดารารัตน์ สายยศ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนพนมดงรักวิทยา เป็นคนหนึ่งที่ได้มาร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง ในฐานะพี่ใหญ่ เธอมีหน้าที่ดูแลน้องๆ แม้ว่าจะมีภาระต้องเตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังเลือกมาร่วมกิจกรรมเพราะคิดว่าได้ทำประโยชน์แก่ชุมชน
อ่านหนังสือเสร็จแล้วก็มาช่วยน้องๆ ก็ดีนะคะ ได้ดูแลน้องได้ชวนน้องๆ ที่เขายังไม่มีอะไรทำมาช่วยกัน เราได้มีส่วนร่วมกับชุมชนของเรา
จากกิจกรรมใต้ต้นมะขามเพียงต้นเดียว ขยายออกไปเป็นต้นไม้อื่นๆ อีกหลายพันต้น พื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กๆ เริ่มจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ แต่สร้างคุณค่าความหมายมากมายให้กับตัวเด็กเอง พ่อแม่ผู้ปกครอง ไปจนถึงชุมชน ให้รู้สึกได้ว่า ดีอีหลีบ้านเฮา