ดันพรบ.ปราบสินค้าปลอมบนอินเทอร์เน็ต
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เตรียมชงครม. ดันกม.ปราบละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ ชี้หยุดความเสียหายช่วยเจ้าของลิขสิทธิ์รวดเร็วไม่ต้องรอศาล
น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดี กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่) พ.ศ…. เน้นแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ ความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก,การปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ดับเบิ้ลยูซีที)
“ตอนนี้กรมฯได้เสนอร่างให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบแล้ว และคาดว่า ในเร็วๆ นี้จะเสนอครม. เป้าหมายเพื่อปกป้อง คุ้มครองการละเมิดบนอินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพขึ้น หลังจากปัจจุบันมีการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่การแก้ปัญหายังช้าอยู่”
สำหรับกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก ได้แก้ไขกรณีที่เจ้าของสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเองบนอินเตอร์เน็ตในประเทศ เช่น โหลดเพลง ภาพยนตร์ ละคร มาโพสต์บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังไอเอสพีเพื่อให้ถอดเนื้อหาที่ละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที จากปัจจุบัน เจ้าของสิทธิ์ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไอเอสพี ถอดเนื้อหาการละเมิดออก ทำให้ใช้เวลานาน จนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายทางธุรกิจ ส่วนหากละเมิดบนเว็บไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ก็ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์นั้น
"กฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน กว่าจะถอดเนื้อหาละเมิดออกจากอินเทอร์เน็ตได้ ต้องใช้เวลานาน ไม่ทันกับการแก้ปัญหา กรมฯจึงแก้ไขใหม่ เพื่อยับยั้งการละเมิดที่รวดเร็ว หากเจ้าของสิทธิ์พบว่างานตนเองถูกละเมิดบนอินเทอร์เน็ต ก็ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังไอเอสพี โดยระบุว่า ตนคือใคร เป็นเจ้าของงานอะไร พบการละเมิดที่ใด เมื่อไอเอสพี เชื่อตามนั้นก็ต้องถอดออกทันที จากนั้นไอเอสพี ต้องแจ้งไปยังคนที่เอางานชิ้นนั้นขึ้นเว็บว่ามีผู้แจ้งเป็นเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง แล้วให้ถอดงานชิ้นนั้นออก”
อย่างไรก็ตามหากบุคคลที่เอางานขึ้นเว็บเป็นผู้ละเมิดจริง คงไม่มีอะไรโต้แย้ง แต่หากผู้ที่เอางานขึ้นเว็บยืนยันว่า ตนเองก็เป็นเจ้าของสิทธิ์เหมือนกันก็สามารถโต้แย้งและนำหลักฐานมาพิสูจน์เสนอไปยังไอเอสพีเอางานชิ้นนั้นกลับขึ้นมาบนเว็บไซต์ได้ เป็นต้น
ส่วนประเด็นการปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีนั้น กำหนดว่า บุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮ็กบนอินเตอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อครหัสเข้าอินเตอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี จากกฎหมายปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้
ขณะที่การเข้าเป็นสมาชิกดับเบิ้ลยูซี นั้น กรมฯอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบางประเด็นยังไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญานี้ จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกัน โดยได้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองงานภาพถ่าย จากกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยปัจจุบัน คุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ แต่จะขยายเป็นคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และเพิ่มอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิตตามดับเบิ้ลยูซี ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น