ดันพรบ.นมแม่เพื่อทารก ยันนมเต้าแม่ แน่กว่านมผง

ปัญหาเด็กไทยอ้วน ไอคิวต่ำ สาเหตุนอกจากระบบการเรียนการสอนแล้ว ยังมาจากอาหารและการเลี้ยงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลี้ยงด้วยนมผงมาตั้งแต่แรกเกิด

ผลสำรวจระหว่างเดือนธันวาคม 2548 – พฤษภาคม 2549 พบว่า ครอบครัวไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกมีแค่ร้อยละ 5.4 หรือประมาณ 43,000 คน จากจำนวนเด็กเกิดทั้งหมด 800,000 คน

ตัวเลขนี้ต่ำที่สุดในประเทศเอเชียด้วยกัน และอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุด ในโลกด้วย สาเหตุมาจากหลายประการด้วยกัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่อันตรายที่สุดมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทนมผงบางบริษัทเกินจริง ทำให้แม่หลงเชื่อว่า นมผงหรือนมผสมทดแทนนมแม่ได้

ผลร้ายที่ตามมาคือ เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ภูมิต้านทานโรคจะไม่ดี ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นโรคอ้วนได้ง่าย สมองไม่ดี เพราะนมผงนั้น สารอาหารมีไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อความ ต้องการของเด็ก อีกทั้งไม่เหมาะสมอีกด้วย

“แม่ทุกคนรู้ดีว่า นมแม่ดีต่อลูก แต่พอเลี้ยงลูกกลับไปใช้นมผง อาจด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าจะทำให้นมยาน แท้จริงเป็นเรื่องหลอกลวงของโฆษณา” อาจารย์สง่าบอก

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญโภชนาการ ชี้ให้เห็นความสำคัญของนมแม่ ในงานเสวนาว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ณ ห้องประชุม สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ กทม.

การส่งเสริมให้แม่ให้นมลูก นพ.ดนัย ธีวันดา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เรื่องนี้ไทยเรารับหลักเกณฑ์ปฏิบัติมาจาก code เป็นหลักเกณฑ์ที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาใช้ แต่เราไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง“

“code ในระยะแรก มีสถานะเป็นเพียงข้อแนะนำ ทำให้เกิดการละเมิดข้อตกลงขึ้นในหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกปี 2009 ผู้แทนประเทศสมาชิกจึงผลักดันให้สมัชชาอนามัยโลกเปลี่ยนหลักเกณฑ์ code จากข้อแนะนำไปเป็นข้อบังคับ หรือกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม”

หลักเกณฑ์ของ code ที่จะเป็นกฎหมายนั้น มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง? คำตอบคือ สาระสำคัญคือ ห้ามโฆษณาและทำการตลาดสินค้าอาหารทารกและเด็กเล็กในทุกรูปแบบแก่ประชาชน

เป็นต้นว่า “ห้ามพนักงานบริษัทติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว ห้ามบริจาคนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก ห้ามส่งเสริมธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก ห้ามติดสื่อโฆษณาภายในสถานพยาบาล และห้ามบุคลากรสาธารณสุขรับตัวอย่างนมผงและหยิบยื่นให้แม่” ฯลฯ 

”กรณีบริษัทนมผงให้สปอนเซอร์โรงพยาบาล พาบุคลากรทางการแพทย์ไปเที่ยวต่างประเทศ ที่บางบริษัททำอยู่นั้น ตามกติกาแล้วทำไม่ได้ข้อห้ามของ code ที่ไทยรับเอามาในฐานะสมาชิกนั้น ปัจจุบันพบว่า ในประเทศไทยเรามีการละเมิดกันอย่างเอิกเกริก เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ ทำให้ต้องมีกฎเหล็กขึ้นมา “บังคับ” ให้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง”

นพ.ดนัยยอมรับว่า “ในประเทศไทย กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 ยังขาดมาตรการการบังคับโทษ” ต่อมา พ.ศ.2553 กรมอนามัยร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องได้ยกร่างการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่ประชุมมีมติรับรองและให้พัฒนาเพื่อผลักดันเป็นกฎหมาย”

เนื้อหาของ “ร่างกฎหมาย” นั้น นพ.ดนัยบอกว่า คล้ายกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มสาระสำคัญในส่วนของบทลงโทษ แม้จะเป็นการลงโทษค่อนข้างเบา แต่เป้าหมายก็คือ ต้องการตอกย้ำความเข้าใจและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระในแง่ของขั้นตอนทางกฎหมาย หากธุรกิจอาหารสำหรับทารกมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติในกฎหมาย“

ปัจจุบัน 38 ประเทศทั่วโลก มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล เวียดนาม แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ และอีก 44 ประเทศมีกฎระเบียบที่ควบคุมบางส่วน

”แต่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำกฎหมาย คาดว่าจะออกมาใช้ได้ประมาณ พ.ศ.2557″

นพ.ดนัยเน้นว่า คุณภาพของนมแม่นั้น “มีสิ่งที่ลูกต้องการอย่างครบถ้วน นมแม่ให้สิ่งที่ดีสำหรับลูก ไม่จำเป็นต้องมีการวิจัยอะไรอีกแล้วในเรื่องนี้ เพราะธรรมชาติได้สร้างสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกแล้ว เพื่อการคงอยู่ของชาติพันธุ์ ส่วนนมผสมจะนำมาทดแทนได้ ในบางกรณีที่แม่มีปัญหาบางอย่างเท่านั้น

”ดังนั้น อยากให้แม่ทุกคนได้รู้ว่า นมแม่มีประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นไอคิว อีคิว ดีกว่านมผงทุกประการ แม่ต้องให้สิ่งที่ดีกับลูกตัวเอง เพื่อสังคมที่ดีของเราต่อไป”

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอกว่า อยากให้แม่ทุกๆ คนทราบว่า แม้นมผงใช้กับเด็กได้ แต่อยากให้ทราบว่านมแม่แน่กว่านมผงในทุกๆ ด้าน เรียกว่าดีตั้งแต่หัวจดเท้า อย่างเรื่องสายตา เด็กที่ดื่มนมแม่ สายตาจะมองเห็นได้คมชัด กระดูกเด็กจะแข็งแรง ทางเดินหายใจดี การไหลเวียนโลหิตดี ไม่เป็นโรคภูมิแพ้ง่ายๆ เด็กควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน และไม่เกิน 2 ปี

นางพรธิดา พัดทอง ฝ่ายสารนิเทศองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ บอกว่า สิทธิเด็กควรได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการได้ดื่มนมแม่ ในนมแม่นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง มีสารอาหารเหมาะสำหรับเด็กประมาณ 1,000 ชนิด ขณะที่นมผงที่คุณแม่นำมาใช้แทนมีเพียง 60 ชนิดเท่านั้น นอกจากสารอาหารจะห่างไกลกันลิบโลกแล้ว

“นมผงยังไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นได้จากข่าวสารว่า มีการเก็บนมผงออกจากชั้นวางขายอยู่เนื่องๆ ในประเทศต่างๆ เมืองไทยเราเองก็มีเหมือนกัน แต่ก็แปลกที่ไม่ค่อยเป็นข่าว อยากย้ำให้แม่ทราบว่า นมแม่นั้นดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูก ร่างกายของแม่ผลิตขึ้นมาเพื่อลูกโดยเฉพาะ จึงไม่อาจหานมอะไรมาทดแทนได้” 

เพื่อให้แม่เข้าใจเรื่องนมของตนเองต่อลูกน้อยอย่างแท้จริง ไม่หลงคำโฆษณาของบริษัทนมผงหลากยี่ห้อที่เข้าไปหลอกล่อขายสารพัดรูปแบบ เครือข่ายผู้พิทักษ์สิทธิเด็กทั้งกรมอนามัยและอื่นๆ จึงร่วมกันผลักดัน “พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” ขึ้นมา เพื่อบังคับใช้อย่างจริงจังต่อไป

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ เราไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่เราต้องการให้เด็กได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือได้ดื่มนมแม่” อาจารย์สง่าทิ้งท้าย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code