ดอกไม้ประดิษฐ์ มิตรภาพแห่งเกาะคา
นอกจากผ้ามัดย้อมแล้ว คนในชุมชนตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ยังใช้มีอาชีพเสริมอีกอย่าง ที่แม้มิได้สร้างเสริมความร่ำรวยมากมาย หากแต่เพียงพอ อยู่ได้บนพื้นฐานของมิตรภาพ และความรักความสามัคคี
ปราณี จันทร์แจ้ง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์บ้านผึ้งบอกว่า อาชีพหลักของเธอ คือ เป็นแม่บ้าน ไม่ได้ขัดสนเงินทองแต่ประการใด หากแต่อยู่ว่างๆ แล้ว เกิดความคิดที่จะรวมกลุ่ม ซึ่งตอนต้นนั้น คาดว่า อาจสร้างรายได้ให้บ้าง แต่ที่สำคัญ คือ เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุไม่เหงา โดยดอกไม้ประดิษฐ์เหล่านี้ ใช้ในงานศพ งานแต่งงาน
ทางเทศบาลตำบลเกาะคา เป็นผู้หาคนมาช่วยสอนวิธีทำเบื้องต้น แรกเริ่มใช้มือทำ แต่เดี๋ยวนี้พัฒนา มีเครื่องอัดกลีบอัดดอกแล้ว พร้อมด้วยสมาชิกทั้งหมด 15 คน ณ เวลานี้ เข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว
ดอกไม้ประดิษฐ์ของที่นี่มีการดัดแปลงรูปแบบไปตามจินตนาการของคนทำมายมาย ดอกไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอาจมีความเหมือน หรือไม่เหมือนธรรมชาติก็ได้ ขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยคุณสมบัติของดอกไม้ประดิษฐ์ที่สำคัญคือ มีความคงทน ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย และดูแลรักษา มีความสวยงาม สามารถนำไปใช้ในการประดับในโอกาสต่างๆ
การประดิษฐ์ดอกไม้ด้วยฝีมือมนุษย์เป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน มุ่งหวังที่จะดำรงความงดงามตามธรรมชาติของดอกไม้ให้คงอยู่ ไม่ร่วงโรยเหี่ยวเฉา การทำดอกไม้ประดิษฐ์จึงเริ่มต้นที่การใช้การสังเกต ศึกษาค้นคว้ารูปลักษณะสีสันตามธรรมชาติของดอกไม้แต่ละชนิดแต่ละประเภท แล้วถ่ายทอดการทำออกมาเป็นดอกไม้ อาจถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบางชนชาติที่มีการสืบทอดการประดิษฐ์ดอกไม้มายาวนาน
วัสดุอุปกรณ์หลักที่สามารถใช้ในการทำดอกไม้ประดิษฐ์ คือ ผ้าชนิดต่างๆ อาทิ ผ้าออร์แกนซา / ผ้าแพร / เยื่อไม้ / ผ้าปอบปลิน / ผ้ากำมะหยี่ / ผ้าสักหลาด / ผ้าหนังเปียก / ผ้ามัสลิน กระดาษชนิด ต่างๆ อาทิ กระดาษย่น / กระดาษสา / กระดาษอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้ สัตว์ อาทิ เกล็ดปลา / เปลือกหอย / ขนไก่ / รังไหม / กระดูกสัตว์บางชนิด วัสดุอื่น อาทิ สบู่ / ดินน้ำมัน / แผ่นพลาสติก / ถุงพลาสติก / กระจก
ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข