ฐานคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ‘ชาวบ้านทำวิจัย’
ที่มา : เว็บไซต์ vijaitongtin.com
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ vijaitongtin.com
มีคนถามอยู่ตลอดเวลากับงานวิจัยของประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ ด้วย) ว่าหลายปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณกับงานวิจัยไปพอสมควร แต่ผลการวิจัยใช้อะไรได้บ้าง สุดท้ายแล้วมีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่ ทำให้อะไรดีขึ้นหรือไม่ เช่นมีนักวิจัยจำนวนไม่น้อยทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมก็เสียหายไปเรื่อยๆ ต่อหน้าต่อตา ผลการวิจัยดูเหมือนว่าจะใช้แก้ปัญหาจริงๆ ไม่ได้ เพราะผู้เกี่ยวข้องมักไม่ใช้งานวิจัยในทางปฏิบัติ
จึงมีหลายคนเห็นว่าน่าจะลองทำวิจัยแบบใหม่ดูบ้าง โดยเลือกเรื่องที่ทำแล้วใช้ได้จริงๆ ทำโดยคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ยังดี “คนที่เกี่ยวข้องจริงๆ” นี้ กลุ่มใหญ่ก็คือ “ชาวบ้าน” ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และซึ่งในอดีตไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดชะตากรรมของตนเองสักเท่าไรนัก จึงเกิดแนวคิดที่จะสนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัยเองบ้าง ให้ชาวบ้านได้ใช้ “กระบวนการวิจัย” ในการจัดการกับชีวิตของตัวเอง ในการแก้ปัญหาและรับมือกับอนาคต พึ่งผู้อื่นน้อยลง พึ่งตัวเองให้มากขึ้น
แต่ในการที่จะทำวิจัยนี้ เราต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับว่า “งานวิจัยคืออะไร” เสียใหม่
อาจารย์เสน่ห์ จามริก ท่านให้แนวว่า “การวิจัยเป็นกระบวนการ” เท่าที่ผ่านมาเราอาจจะนึกถึงตัว “ผลงานวิจัย” อย่างเดียว เช่นการค้นพบยาชนิดใหม่หรือประดิษฐ์คอมพิวเตอร์แบบใหม่ จนลืมว่า “กระบวนการวิจัย” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ถ้ามีกระบวนการที่ดี ใครก็ตามที่เข้าร่วมกระบวนการก็จะได้เรียนรู้ ได้ทั้ง ผลงานและได้ทั้ง “คน” ที่เก่งขึ้น ถ้าคิดถึงแต่การวิจัยเพื่อประดิษฐ์คิดค้น “ของ” ใหม่ๆ อย่างเดียว ชาวบ้านก็คงไม่มีที่ยืนในวงการวิจัยเช่นนั้น แต่ถ้ามองว่าการวิจัยเป็น “กระบวนการ” ไม่ใช่เนื้อหา ใครๆ ก็น่าจะใช้กระบวนการนี้กับเรื่องอะไรก็ได้
“กระบวนการวิจัย” ในที่นี้หมายถึงการทำงานเป็นขั้นตอน เพื่อตอบคำถามหรือความสงสัยบางอย่าง โดยมีการแยกแยะประเด็นว่าข้อสงสัยอยู่ตรงไหน มีการหา “ข้อมูล” ก่อนทำ มีการวิเคราะห์ว่าข้อมูลไหนเชื่อได้ข้อมูลไหนเชื่อไม่ได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วระหว่างลงมือทำก็มีการทบทวนความก้าวหน้า วิเคราะห์ความสำเร็จและอุปสรรคอย่างสม่ำเสมอ ในที่สุดก็จะสรุปบทเรียนเพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้ แล้วอาจจะทำใหม่อีกให้ดีขึ้น โดยทั้งหมดนี้ทำโดยผู้ที่ “สงสัย” นั่นเอง
ในอดีต ผู้ที่ “สงสัย” นี้มักจะเป็นนักวิชาการ ครูบาอาจารย์ คำถามหรือข้อสงสัยก็เลยมาจากคน เหล่านั้น และเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้วก็คงจะตอบคำถามของคนกลุ่มนั้นได้ แต่ตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่ได้เป็นคนตั้งคำถาม ดังนั้น ถ้าจะให้งานวิจัยเป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ ชาวบ้านต้องเป็นผู้สงสัยเสียเอง ต้องเป็นผู้ตั้งคำถาม และต้องเป็นผู้ทำ
ถ้าทำอย่างนี้ ก็ไม่ต้องถามว่า “งานวิจัยทำแล้วใช้ได้หรือไม่?” เพราะคนจะใช้ประโยชน์นั้นเองเป็น ผู้กำหนดเรื่องที่จะทำ ไม่ต้องถามว่า “ทำแล้วชาวบ้านได้อะไร?” เพราะชาวบ้านเองเป็นคนทำ ทำแล้วก็จะแก้ปัญหาของตัวเองได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้ คนทำก็จะได้บทเรียนสำหรับลองทำวิธีอื่นต่อไปอีกจนกว่าจะพอใจ ทั้งนี้การเลือกว่าจะทำเรื่องอะไร อยู่ที่ชาวบ้าน โดยเลือกเรื่องที่พอทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาใหญ่โต ไม่ต้องพึ่งคนอื่นมากนัก แล้วค่อยๆ ทำเรื่องที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
จากแนวคิดนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเมื่อไม่นานมานี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ว่า “เลือกปัญหาสักเรื่องหนึ่งมาลองคิดลองทำร่วมกันดีไหม?” เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมี “กระบวนการวิจัย” เป็นขั้นตอน เช่นเริ่มต้นด้วยการช่วยกันคิด ตีประเด็นให้ออกว่าปัญหาอยู่ตรงไหน คำถามคืออะไร แล้วช่วยกันออกหา “ข้อมูล” ว่าคนอื่นเขาเคยแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ได้ผลอย่างไร นำมาใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ เสร็จแล้วจึงมาตัดสินใจว่าควรจะลองทำอย่างไร ถ้าจะทำจะต้อง “วางแผน” อย่างไร และลงมือทำจริงๆ ระหว่างลองทำก็มีการ “บันทึก” “ทบทวน” “วิเคราะห์” ประสบการณ์เป็นระยะๆ เพื่อ “ถอด” กระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นออกมาให้ชัดเจน เป็นบทเรียนสำหรับเรื่องต่อไป
งานอย่างนี้ใช้ “เวที” คือการประชุม เสวนา ถกเถียง เป็นเครื่องมือสำคัญ ตั้งแต่การตั้งประเด็น การหาข้อมูล การตัดสินใจ การลงมือทำ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ทุกขั้นตอนใช้ “เวที” ทั้งสิ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้ส่วนร่วม มีกลุ่มชาวบ้านบ้าง ครูโรงเรียนบ้าง เอ็นจีโอ สมาชิกอบต.บ้าง กรรมการสหกรณ์บ้าง รวมทั้งข้าราชการบางคนมาร่วมกันทำ ใช้ “ปัญญา” และใช้กระบวนการที่เป็นระบบในการแก้ปัญหา เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ผล มีความเชื่อถือสูง
วิธีการนี้ สกว. ถือว่าเป็นงานวิจัยอีกแบบหนึ่งที่ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผนทางวิชาการมากนัก แต่มองว่าเป็นการสร้างความรู้ในตัวคนท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น มุ่งแก้ไขปัญหาด้วยการทดลองทำจริง และมีการบันทึกและวิเคราะห์อย่างเป็นระเบียบ การวิจัยแบบนี้จึงไม่ใช่เครื่องมือทางวิชาการที่จะขอตำแหน่ง ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขาดอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่เป็นเครื่องมือธรรมดาที่ชาวบ้านก็ใช้เป็น เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
สิ่งสำคัญก็คือการตั้งประเด็น “คำถาม” ให้คมชัด เพราะการวิจัยคือการตอบคำถามหรือข้อสงสัยบางอย่าง และเราเชื่อว่าการตอบคำถามนี้ ถ้าทำด้วยกระบวนการที่เป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ ก็จะมีน้ำหนักในการอธิบายและชักจูงคน โดยปกติชาวบ้านมักจะมี “ปัญหา” และ “สิ่งที่อยากได้” ชัดเจนอยู่แล้ว เช่นน้ำในคลองสกปรก ตื้นเขิน ไม่มีปลา แต่เดิมน้ำลึกจนเขียว มีกุ้งหอยปูปลาจับได้ทุกวัน อยากให้น้ำสะอาดเหมือนเดิม มีสัตว์น้ำใช้เป็นอาหารได้ คำถามก็คือ “ทำอย่างไรจะให้น้ำสะอาด?” ทำอย่างไรจะให้ปลากลับมาอุดมสมบูรณ์?” แต่คำถามเช่นนี้ยังกว้างเกินไป ยังไม่ชัด ตอบไม่ได้ถนัด (นอกจากใช้สูตรสำเร็จ เช่น รณรงค์สร้างจิตสำนึก ห้ามคนทิ้งขยะลงน้ำ ขุดลอกคลอง หาพันธุ์ปลามาปล่อย เป็นต้น ซึ่งเป็นคำตอบสำเร็จรูปที่ขาด “การมีส่วนร่วม” ตั้งแต่การตั้งคำถาม และไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาได้ หรืออาจจะแก้ได้ชั่วคราวเท่านั้น)
ถ้าใช้กระบวนการวิจัยเข้าจับก็จะทำงานเป็นขั้นตอน โดยเริ่มต้นด้วยคำถามสองข้อว่า “ขณะนี้น้ำคลองสกปรกมาน้อยแค่ไหน? มีอะไรในน้ำที่เป็นสิ่งสกปรก? และ “สิ่งสกปรกเหล่านี้มาจากไหน? ใครเป็นผู้ทิ้งลงมา?” เป็นต้น เพื่อให้ทราบ “สภาพที่เป็นอยู่” และ “ต้นเหตุ” ที่ชัดเจนก่อนจะลงมือแก้ปัญหา ในการตอบคำถามสองข้อนี้ คนในชุมชนเองจะเป็นผู้หา “ข้อมูล” เป็นคนออกสำรวจ สอบถาม สังเกต (โดยอาจมีผู้รู้จากภายนอกช่วยบ้างบางเรื่อง) แล้วนำมาถกเถียงกันจนได้ข้อสรุป ข้อสรุปนี้จะเป็นจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ แต่เป็นความเห็นของชุมชน ซึ่งจะต้องทดลองทำต่อไปว่าจริงหรือไม่ งานส่วนแรกนี้เป็นงานวิจัยที่สำคัญมาก เพราะเป็นงานที่จะบอกว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน จะได้แก้ให้ถูกจุด ซึ่งต้องทำด้วยเหตุและผลเป็นหลัก ต้องมองค่อนข้างกว้างว่าปัญหาคงจะมีหลายสาเหตุ ไม่ได้มุ่งจะกล่าวโทษเหตุใดเหตุหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง ระหว่างการทำงานส่วนแรกนี้คนในชุมชนเองก็จะเข้าใจปัญหา ได้ตรวจสอบข้อมูล (ด้วยการทำเอง) และได้สร้าง “กลุ่มชุมชน” ขึ้น โดยมีประเด็นทำงานร่วมกัน
เมื่อได้ข้อสรุปของสถานการณ์และต้นเหตุของปัญหาแล้ว คำถามต่อไปก็คือ “จะหาทางจัดการกับต้นเหตุของปัญหานี้อย่างไร?” ทางเลือกมีหลายทาง บางทางเริ่มง่าย บางทางต้องขึ้นกับผู้อื่นมาก (เช่นไปขอให้หน่วยงานรัฐช่วยขุดลอกคลอง เป็นต้น) บางทางก็ได้เองโดยชุมชน (เช่น การรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงน้ำ เป็นต้น) และบางอย่างก็อยู่นอกชุมชน (เช่น ของเสียถูกปล่อยมาจากโรงงานที่อยู่ต้นน้ำ จะต้องเจรจากับโรงงานและหน่วยงานที่ควบคุม หรือคลองตื้นเขินเพราะมีการสร้างเขื่อนที่ปลายน้ำ เป็นต้น) ทั้งหมดนี้ “เวที” ของชุมชนจะต้องถกเถียงกันว่าอยากจะลองทำอะไรก่อน และจะต้องมี “แผน” อย่างไรในการทำงานนั้น จะต้องไปติดต่อกับใครจะต้องทำกิจกรรมอะไร ใครจะเป็นคนทำ เป็นต้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเลือกทางออกที่ “ถูก” ทั้งนี้เพราะไม่มีทางออกใดที่ “ถูก” และไม่มีทางออกใดที่ “ผิด” แต่อยู่ที่การร่วมกันเลือกทางออกที่ “เป็นไปได้” และร่วมกันทำมากกว่า
งานส่วนที่สองนี้เรียกว่า “งานวิจัยปฏิบัติการ” โดยในระหว่างการทำจะมีการบันทึก ทบทวน และถกเถียงกันอย่างสม่ำเสมอ และในที่สุดก็จะสรุปผลว่าวิธีแก้ปัญหาที่ได้ทดลองทำแล้วนั้น แก้ปัญหาได้หรือไม่ มากน้อยอย่างไร ได้บทเรียนอะไร แต่ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็จะมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะคนทั้งกลุ่มเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน และผลการ “บันทึก” และ “วิเคราะห์” ก็จะเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย
งานเช่นนี้จะไม่มีใครบ่นว่า “อยากทำแต่ไม่มีเวลา” เพราะเรื่องที่จะทำนั้นเป็นเรื่องของตัวเอง ถ้าไม่ทำก็คงไม่มีคนอื่นมาทำให้ คนทำเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง คนภายนอกเพียงแต่ช่วยเอื้อให้เขาทำงานได้สะดวกเท่านั้น
“บทบาทของหน่วยงานภายนอกอย่าง สกว. ก็คือการช่วยให้ชุมชนได้มารวมกัน ได้เริ่มกระบวนการตั้งคำถามและหาข้อมูล เชื่อมโยงชุมชนกับแหล่งข้อมูลและความรู้ภายนอก ตลอดจนสนับสนุนเทคนิควิธีการและทรัพยากรบางอย่างที่ชุมชนต้องการ แต่ไม่ได้ตั้งประเด็นวิจัยไปล่วงหน้า ไม่ได้กำหนดตัวนักวิจัย ไม่กำหนดเวลาทำงาน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ออกมาจากเวทีชุมชนเอง”
อาจารย์ประเวศ วะสี ท่านให้หลักว่า การวิจัยแบบนี้น่าจะนำไปสู่ “ผล” อย่างน้อยสามอย่าง คือ อย่างแรกเกิดความรู้ขึ้นในท้องถิ่นและเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นโดยตรง อย่างที่สองเกิดกระบวนการเรียนรู้โดยคนท้องถิ่นเอง ทำให้คนท้องถิ่น “เก่ง” ขึ้นและทำงานได้ดีขึ้น และอย่างที่สามเกิดกลไกหรือองค์กรในชุมชนที่จะจัดการสานงานต่อไป โดยทั้งหมดนี้ทำโดยชาวบ้าน หรือชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น และอาจมี “เพื่อนชาวบ้าน” คอยช่วยเหลือสนับสนุนบ้างตามที่จำเป็น
ข้อจำกัดก็คือที่ผ่านมาชาวบ้านถูกทำให้เชื่อว่า การสร้างความรู้เป็นเรื่องของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาโท เท่านั้น โดยที่ชาวบ้านเป็นผู้ “ถูกวิจัย” ถูกถาม ถูกสังเกต ชาวบ้านจึงเห็นว่า งานวิจัยเป็นของสูง ต้องให้นักวิชาการทำเท่านั้น นักวิชาการทำเสร็จแล้วจึงยกมาให้ชาวบ้านใช้ แต่เมื่อนักวิชาการทำเสร็จแล้ว ก็มักจะพบว่าเรื่องที่ทำไม่ตรงกับเรื่องที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน อีกทั้งข้อสรุปของ
นักวิชาการก็มักจะไม่เป็นรูปธรรมพอที่จะนำไปใช้ได้ ในขณะที่ชาวบ้านผู้รู้ปัญหาดีกว่า คิดเองได้ แต่ไม่เป็นระบบ ไม่เชื่อมโยง อีกทั้งหูตายังไม่กว้างขวาง ขาดข้อมูลประกอบการทำงาน การแก้ปัญหาจึงได้ผลเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
อีกประการหนึ่ง ปัญหาท้องถิ่นก็เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่มักพัวพันกันยุ่งเหยิง เช่น คนตกงานกลับมาอยู่บ้านไม่มีงานทำ ติดโรคเอดส์ ติดยาเสพติด ลำไยราคาตก หนี้สินท่วมตัว ฯลฯ ไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ตรงไหน สภาพเช่นนี้ “กระบวนการวิจัย” จะช่วยได้ คือช่วยแยกแยะประเด็น วิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเงื่อนไขของปัญหา และมองหาทางออกสักทางหนึ่งเพื่อทดลองทำ นักเล่นว่าวรู้ดีว่าวิธีแก้จะต้องนั่งลงตั้งสติดีดี แล้วค่อยๆ แก้ทีละเปลาะ มองหาปมที่หลวมๆ พอจะแก้ได้ก่อน ถ้ามองทั้งก้อนที่ยุ่งเหยิงนั้นก็อาจจะหมดกำลังใจ ออกไปซื้อป่านขดใหม่ดีกว่า แต่ “ชุมชน” ใหม่ไม่มีขาย “อยากได้ต้องร่วมสร้าง” (คำขวัญของกลุ่ม Civicnet)
เป็นที่น่าดีใจว่ามีชุมชนเข้าร่วมกระบวนการวิจัยนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้มีเป็นร้อยแห่งแล้ว และยังมีผู้สนใจสนับสนุนอยู่วงนอกอีกหลายเท่า เมื่อเดือนเมษายนปี ๒๕๔๓ ได้มีการประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่ง สกว. เรียกว่า “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มีคนเข้าร่วมถึงสี่ร้อยกว่าคน เนื้อเรื่องที่ชุมชนเสนอ (และอยากลองทำ) มีหลากหลาย เช่น เรื่องอาชีพ การเกษตรแบบยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การปกครองท้องถิ่น อบต. การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน (ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง) ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการศึกษา การจัดการทรัพยากร (ดิน น้ำ ป่า) และหมอพื้นบ้าน เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและกับนักวิชาการ ข้าราชการ เอ็นจีโอหลังจากนั้นงานวิจัยเช่นนี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย จนในขณะนี้มีตั้งแต่ชุมชนชาวไทยภูเขาในเชียงรายไปจนถึงชุมชนไทยมุสลิมที่นราธิวาส
สิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันในการประชุมนั้นมีหลายอย่างเช่น หนึ่ง การวิจัยในแนวนี้ “เกาถูกที่คัน” มาก หลายคนบอกว่า “อยากเห็นอย่างนี้มานานแล้ว” เพราะเป็นพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ใช้เหตุผลและข้อมูลแทนที่จะใช้ความรุนแรง สอง งานส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เป็นการ “ต่อยอด” จากฐานเดิมที่ชุมชนมีอยู่ รวมทั้งจากที่โครงการไปเริ่มไว้แล้ว สาม ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ กำลังเริ่มหัดคิดทำวิจัย จำเป็นต้องมี “พี่เลี้ยง” คอยสนับสนุน คอยเชียร์ ช่วยประสานให้บ้างจึงจะไปได้ดี สี่ “พี่เลี้ยง” ส่วนใหญ่เป็นแบบกันเอง ไม่เป็นทางการ แต่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ก็มีบทบาทเหมือนกันในการเป็น “พี่เลี้ยง” นี้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจและอำนวยความสะดวกให้บ้าง (แต่ไม่ต้องไปตัดสินใจแทน) ชุมชนก็จะหัดแก้ไขปัญหาได้เองและเติบโตเข้มแข็งได้เร็ว และ ห้า ทำอย่างไรจะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้กับคนไทยส่วนใหญ่ได้ทราบ เพื่อจะได้เข้าใจชุมชน เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังทำ และช่วยให้กำลังใจ สนับสนุนบ้างเท่าที่จะทำได้?
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการวิจัยเช่นนี้จะแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ทุกอย่าง บางปัญหานั้นก็เป็นประเด็นทางอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งแก้ด้วยเหตุผลลำบาก ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เคยให้โอวาทคู่บ่าวสาวในงานแต่งงานแห่งหนึ่งว่า เมื่อมีเรื่องทะเลาะกัน อย่าใช้ “เหตุผล” เข้าพูดกัน เพราะเรื่องที่สามีภรรยาทะเลาะกันนั้นมักไม่ใช่เรื่องที่มาด้วยเหตุผล มักมาจากอารมณ์ จึงควรใช้ “เมตตา” และ “ความรัก” จะแก้ปัญหาได้ดีกว่ายั่งยืนกว่า หลักการนี้น่าจะนำมาใช้กับการแก้ปัญหาบางเรื่องของชุมชนได้เหมือนกัน