“ซึมเศร้า” สัญญาณโรคร้ายทางอารมณ์

รักษาได้…ด้วยกำลังใจจากคนใกล้ชิด

 

 “ซึมเศร้า” สัญญาณโรคร้ายทางอารมณ์

          โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสำคัญ

 

          มีข้อมูลน่าสนใจในคอลัมน์ “วิถีเสี่ยง” จดหมายข่าว “ต้นคิด” รายเดือนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รายงานว่า ในปี 2563 ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า โรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าจะมีอัตราการเจ็บป่วยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และคาดว่า จะมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากถึงร้อยละ 10 ของประชากรโลก

 

          ในบ้านเรา จากการสำรวจสุข ภาพจิตคนไทย โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 5 ของประ ชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน และพบว่าคนที่ฆ่าตัวตาย ร้อยละ 60 – 90 มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน

 

          สถิติที่น่าตกใจ คือ ทุก 1.30 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตาย 1 ราย โดยผู้หญิงมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ตัวเลขผู้ที่กระทำสำเร็จเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า

 

          กลุ่มฆ่าตัวตายสำเร็จมักอยู่ในช่วงอายุ 30 – 39 ปี โดยภาคที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง) ขณะที่ภาคเหนือซึ่งมีเคยอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด มีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 50

 

          อารมณ์ซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากรุนแรงอาจมีความผิดปกติทางจิตเวช รศ.น.พ.มาโนช หล่อตระกูล แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะวิธีสังเกตผู้อยู่ในข่ายโรคซึมเศร้า ดังนี้

 

          – ด้านอารมณ์ ซึมเศร้าแทบทั้งวัน ร้องไห้บ่อย หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ

 

          – ด้านความคิด รู้สึกในแง่ลบต่อตนเอง คิดถึงแต่เรื่องความผิดที่ตัวเองก่อ ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกชีวิตไร้ค่า หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

 

          – ด้านร่างกาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หมกมุ่นกับอาการต่างๆ ทางกาย

 

          – ด้านอื่นๆ สมาธิและความจำถดถอย การทำงานและความสัมพันธ์กับคนอื่นรอบข้างน้อยลง

 

          หากคนรอบข้างมีแนวโน้ม ควรหมั่นสังเกตสัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น การพูดเปรยๆ ว่า รู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝังดูแลพันธะ

 

          โรคซึมเศร้ามิใช่โรคจิตประสาท เป็นโรคทางอารมณ์ที่รักษาได้ เพียงแต่ผู้ป่วยต้องยอมรับความเจ็บป่วยทางจิตของตนเอง ขณะเดียวกัน คนใกล้ชิดควรให้กำลังใจในการต่อสู้ด้วย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update 29-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code