“ซินดี้” กับแนวคิดทำหนังสือภาพสอนเพศวิถีศึกษาเด็กเล็ก
ที่มา : เว็บไซต์ bbc.com/thai
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ bbc.com/thai
#DontTellMeHowToDress คือแฮชแท็กยอดนิยมที่นางแบบชื่อดัง ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ริเริ่มใช้หลังทางการมีคำแนะนำให้ผู้หญิงงดแต่งกายล่อแหลม เพื่อป้องกันการถูกลวนลามทางเพศเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา และนั่นคือสิ่งที่จุดประกายให้เธอหันมาเคลื่อนไหวสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง โดยเล็งเห็นความสำคัญของการติดอาวุธความรู้เรื่องนี้แก่เด็กเล็ก
"ในฐานะแม่ มันไม่ใช่แค่เรื่องการปกป้องลูกจากอันตรายรอบตัวต่าง ๆ แต่มันยังหมายรวมถึงการปลูกฝังให้พวกเขาเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราควรต้องเลิกคิดว่าเรื่องเซ็กส์เป็นหัวข้อที่ไม่ควรหยิบยกมาคุยกับพวกเขา" ซินดี้ กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
ยูเนสโกได้ริเริ่มจัดทำแนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษามาตั้งแต่ปี 2552 และมีการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี 2559 เพื่อใช้สอนเด็กวัย 5-13 ปี แต่ซินดี้ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอดแทรกความรู้เรื่องนี้ให้ลูกของตัวเองผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างการเล่นเกม หรือทำคุกกี้ เห็นว่าหนังสือภาพที่เธอคิดทำสำหรับเด็กวัย 5-8 ปี น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องสรีระและการดูแลร่างกายของตัวเองให้ปลอดภัยได้ง่าย ๆ
"อย่างเวลาที่เราทำคุกกี้หรือเล่นเกม เราก็สอนลูกไปด้วยว่าเราไม่ควรบังคับคนอื่นให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เช่น การแบ่งคุกกี้ให้เพื่อน ถ้าพวกเขาไม่ชอบช็อกโกแลตชิพ และไม่อยากกินมัน พวกเขาก็ไม่ควรถูกบังคับหรือกดดันให้กิน"
"เราควรให้ความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก เพราะถ้าเราไม่เริ่มสิ่งเหล่านี้ที่บ้าน พวกเขาก็จะไปเรียนรู้จากที่อื่น ซึ่งอาจเป็นชุดความรู้ที่ไม่ถูกต้อง" ซินดี้กล่าว
ซินดี้ ตั้งใจจะใช้ลูกสาวและลูกชายของตัวเองเป็นตัวละครหลักที่จะวาดออกมาเป็นภาพในหนังสือที่เธอคิดจะทำ
แนวปฏิบัติสากลของยูเนสโกชี้ว่าเพศวิถีศึกษาคือการให้ความรู้เรื่องการนึกคิด อารมณ์ กายภาพ และสังคมแก่เยาวชน เพื่อให้มีทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องในเรื่องเพศ รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน และการปกป้องสิทธิของตนเอง
ซึ่งประเด็นหลังนี้ ซินดี้ เล่าให้บีบีซีไทยว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้เธอสนใจเรื่องการปกป้องสิทธิในการแต่งกายและเข้าถึงความปลอดภัย เพราะเธอเคยถูกลวนลามในวันสงกรานต์เมื่ออายุ 17 ปี ทั้งที่เธอไม่ได้แต่งกายล่อแหลม และสวมเพียงเสื้อสีดำและกางเกงยีนส์
สถิติขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women ชี้ว่า ผู้หญิง 1 ใน 2 คนทั่วโลกมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือกระทำรุนแรงทางเพศในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และ 91 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดจากคนในครอบครัวของตัวเอง
"เพราะฉะนั้นเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงไม่ใช่สาเหตุของการที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่ผู้ชายควบคุมตัวเองไม่ได้ และไม่เคารพในสิทธิ์ทางร่างกายของคนอื่นมากกว่า"
"สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามันมีความคิดที่ว่าการทำร้ายผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ และในหลาย ๆ ครั้ง ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงถูกร้องขอให้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เพื่อไม่ให้ขายหน้าคนอื่น เราต้องการจะส่งสารไปให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่าผู้หญิงต้องอดทนเพื่อศักดิ์ศรีของครอบครัวอย่างนั้นหรือ"
ซินดี้เริ่มเส้นทางการเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิ์สตรีผ่านแคมเปญ Don't tell me how to dress และTell men to respect โดยอาศัยการเป็นบุคคลสาธารณะที่มีคนรู้จัก การเคลื่อนไหวของเธอได้ก่อกระแสทางโซเชียลมีเดีย และได้รับผลตอบรับที่ดี จนทำให้เธอได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่าง ๆ และมีนิทรรศการที่จัดแสดงเป็นระยะในหลายจังหวัด