“ช่างสงสัย-รู้จุดอ่อนตัว-เช็คให้ชัวร์ก่อนเชื่อ” ชวนสูงวัยเท่าทันภัยจาก AI

ที่มา: เวทีสื่อสาธารณะในหัวข้อ “สูงวัยกับการรับมือภัย AI”

                  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท ทำมาปัน จำกัด จัดเวทีสื่อสาธารณะในหัวข้อ “สูงวัยกับการรับมือภัย AI” ภายใต้โครงการพัฒนากลไกต้นแบบอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ชวนเครือข่ายอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบเวทีออนไลน์ ในประเด็นว่าด้วยสถานการณ์ พัฒนาการ และรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพโดยใช้ AI เป็นเครื่องมือ และการรับมือของผู้สูงวัยต่อรูปแบบการหลอกลวงดังกล่าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน ได้แก่ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และน.ส.อัปสร จินดาพงษ์ นักบริหารโครงการอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

                      น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ AI เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้มีความอัจฉริยะและซับซ้อนขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่ง AI มีประโยชน์ในการช่วยเหลือมนุษย์ในด้านต่างๆ อย่างมาก และเราจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์จาก AI แต่ในขณะเดียวกัน ภัยที่มาจากการใช้ AI ก็เป็นสิ่งที่เราต้องระวัง รวมถึงต้องมีทักษะมากขึ้นในการตื่นรู้ตื่นตัว มีวิจารณญาณ และมีจิตวิญญาณของการตรวจสอบก่อนเสมอ

                  ด้าน นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ กล่าวว่า การหลอกลวงด้วย AI มีความน่ากลัวคือ สามารถผลิตจำนวนมากได้ สามารถพัฒนาให้แนบเนียนขึ้นได้ในต้นทุนที่ต่ำลง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวมากกว่า AI ก็คือ “คน” เพราะการจะทำ AI ให้แนบเนียนมีความละเอียดยังมีต้นทุนสูง มิจฉาชีพอาจจะไม่ลงทุนขนาดนั้น แค่ซื้อเครื่องแบบตำรวจมาใส่ก็ใช้หลอกลวงได้เหมือนกัน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจำเป็นต้องสงสัย ก่อนที่เราจะแสดงตัวร่วม ก่อนจะซื้อหรือจะโอนเงิน อะไรที่ให้เราทำมากกว่าการพูดคุยเฉยๆ เช่น เร่งเร้าให้เรากด ทำให้เราตื่นตระหนก หรือไม่เปิดโอกาสให้เราติดต่อกลับ ให้คิดไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ปกติ ซึ่งถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ถูกหลอกลวง 1. ให้สงสัยไว้ก่อน 2.หาจุดอ่อนตัวเอง จะได้ระมัดระวังเรื่องนั้นเป็นพิเศษ เช่น ถูกหลอกให้ซื้อของแล้วไม่ได้ของ หรือเป็นคนชอบเที่ยว ถูกหลอกให้จองโรงแรม เราก็จะคล้อยตามได้ว่าย คือเรื่องที่เราไม่ค่อยตั้งข้อสงสัย ให้ฝึกสงสัยเรื่องนั้นเป็นพิเศษ

                  นอกจากการช่างสงสัยและรู้จุดอ่อนของตัวเองแล้ว วิธีป้องกันภัยหลอกลวงไซเบอร์หรือภัยจาก AI อีกวิธีก็คือ การใช้ช่องทางตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมตรวจสอบข่าวลวงที่สามารถใช้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ได้แก่ COFACT (Collaborative Fact Checking) ที่สามารถเข้าใช้ได้ทั้งในช่องทางเว็บ Cofact.org และ LINE @Cofact และชัวร์ก่อนแชร์ ที่มีทั้งช่องทาง Facebook YouTube และ Line “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งทั้งสุภิญญาและพีรพลต่างกล่าวเหมือนกันว่า ตัวนวัตกรรมเองก็ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทัน AI ต่อไป

                  เวทีสื่อสาธารณะในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนากลไกต้นแบบอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อเพื่อสร้างพื้นที่สื่อปลอดภัย โดยกลุ่มคนตัวD (บริษัท ทำมาปัน จำกัด) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการมุ่งพัฒนาให้เกิดกลไกหรือนโยบายความร่วมมือระดับจังหวัด เพื่อสร้างอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองไปสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่สามารถสื่อสารและส่งต่อประเด็นสูงวัยรู้ทันสื่อและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปสู่ผู้อื่นในโรงเรียนผู้สูงอายุ ในชุมชน และขยายผลไปสู่โรงเรียนผู้สูงวัยทั่วประเทศสืบต่อไป

 

Shares:
QR Code :
QR Code