ช่วยเด็กสร้างโลกในศตวรรษที่ 21
เด็กไทยมีศักยภาพมากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในห้องเรียนแคบๆ แล้วนั่งจิ้มแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา แต่….บางคำที่ว่า "หน้าที่ของหนูคือการเรียนหนังสือเท่านั้น"กลับเป็นประโยคทิ่มแทงใจดำที่เด็กๆ ได้ยินได้ฟังกันมาจนเบื่อและถ้าจะว่ากันตามจริงหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าช่วงวัยไหนนั่นคือการเป็น "พลเมือง" ที่มีคุณภาพของประเทศ
ความเป็นพลเมืองคืออะไร
"พลเมือง" (Citizen) หมายถึง ผู้ที่ได้รับการยอมรับให้มีสิทธิในทางกฎหมายในรัฐหรือประเทศนั้นเป็นผู้ที่มีทะเบียนราษฎร์หรือเอกสารทางกฎหมายอื่นที่รับรองว่าเป็นคนมีสิทธิ์ทางกฎหมายในรัฐหรือประเทศนั้น เป็นผู้เสียภาษี มีสิทธิในการเลือกตั้งหรือสิทธิอื่นๆ ในฐานะพลเมืองของรัฐหรือประเทศนั้นตามที่กฎหมายของรัฐหรือประเทศนั้นกำหนด
ซึ่งการจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ดี มีความรับผิดชอบ ตระหนักในบทบาทหน้าที่มีคุณลักษณะและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเริ่มวางรากฐานการเรียนตั้งแต่ยังเด็ก ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนพลเมืองที่มีคุณภาพโดยเฉพาะพลเมืองผู้ใหญ่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา
สร้างพลเมืองเด็กด้วย 7 แนวทาง
การจะสร้างความเป็น “พลเมืองเด็ก” หรือช่วยเด็กสร้างโลกนั้น โดยเฉพาะในช่วงวัย 3 – 5 ขวบ นั้นนอกจากสังคมจะต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์แล้วในรูปแบบต่างๆแล้ว ในปัจจุบันนี้กระบวนการทางสังคมอื่นๆโดยเฉพาะสถานศึกษานอกจะเชื่อมโยงแนวคิดด้านวัฒนธรรมประชาธิปไตยเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตไปพร้อมกับความเข้าใจเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทางออกสำหรับปัญหาความขัดแย้งในชุมชนและสังคมแล้ว การสอนให้เขาจัดการตัวเอง ส่งเสริมจริยธรรม และส่งเสริมให้มีจิตสาธารณะเป็นอีกแนวทางที่จะสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้ ซึ่งคุณครูและครอบครัวมีความสำคัญมากในการมีส่วนร่วมสร้าง “พลเมืองเด็ก”
1.พลเมืองเด็กเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้
เด็กๆในวัย 3-5ปีนั้นเป็นวัยที่มีการแสดงออกทางด้านอารมณ์อย่างอิสระและเปิดเผย เช่นมีความกลัวอย่างสุดขีด อิจฉาอย่างไม่มีเหตุผล หรือแม้แต่โมโหร้าย เพราะเด็กเริ่มมีการพัฒนาทางสติปัญญามากขึ้นจากวัยทารกและเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเด็กจึงมีจินตนาการและประสบการณ์มากขึ้นทำให้เกิดความกลัวในสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองเช่นกลัวผี กลัวความมืด
การจะฝึกให้เด็กๆนั้นเข้าใจถึงอารมณ์ของตนเองและฝึกให้รู้จักการแสดงออกทางด้านอารมณ์อย่างไม่ก้าวร้าวเช่นเมื่อเด็กกำลังโกรธ อาจจะกระทืบเท้า นั่งลงร้องไห้สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าเมื่อตนเองกำลังโกรธ เขาควรที่จะรู้ว่าตนเองโกรธ ยอมรับว่าตนเองกำลังโกรธและควรแสดงพฤติกรรมต่อความโกรธของตนเองอย่างไรและหากแสดงความโกรธหรือเอาแต่ใจอย่างไม่ถูกต้องจะได้รับผลเช่นไร
ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องนี้แล้วยังเป็นโอกาสที่คุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ ได้สอนเรื่อง “การขอโทษ” “การแบ่งปัน” และ “การให้อภัย” ให้กับเด็กๆด้วย
2 พลเมืองเด็กมีความรักในเพื่อนมนุษย์ แบ่งปัน และสร้างสรรค์
ความรักเป็นพลังมหาศาลที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อการพัฒนามนุษย์ในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัย 3 -5 ปี ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การสร้างทัศนคติ ความเชื่อมั่นและสร้างพลังทางด้านศีลธรรม หากเด็กในวัยนี้ได้รับความรัก ความอบอุ่นจากบุคคลใกล้ชิดทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และคุณครูอย่างเพียงพอ จะส่งผลถึงการสร้างบุคลิกภาพที่ดีของเด็ก อีกทั้งยังเป็นพลังพิเศษที่เชื่อมโยงให้พัฒนาการในด้านสติปัญญา และด้านสังคมดีขึ้นอีกด้วย
กิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกสนานอย่างเช่นการเล่านิทาน จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความคิดเชิงบวกกับเด็กได้ เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นจากเรื่องราวที่อ่อนโยนอย่างนี้สม่ำเสมอ เด็กๆจะเกิดพลังที่จะแบ่งปันสิ่งดีงามที่ตนได้รับ มอบให้กับคนรอบข้างพวกเขา อันเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตไปพร้อมๆกับทัศนคติที่ดีงามของการให้ความรัก การแบ่งปันความช่วยเหลือและความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำ
3. พลเมืองเด็กเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย
การเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยจากคนใกล้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ตรงต่อเวลา เก็บของเป็นที่ รักษาคำมั่นสัญญา ปฏิบัติตามกฎระเบียบ การจัดตารางให้เด็ก การฝึกซ้ำๆ ทำบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างวินัยให้เป็นทำนองของชีวิตที่ติดตัวเด็กไปตลอด
หัวใจของการสอนเรื่องระเบียบวินัยคือ ความสม่ำเสมอ ยึดมั่นในหลักการที่ชัดเจนว่าอะไรถูกอะไรผิด และยึดหลักทางสายกลาง ไม่เข้มงวดมากเกินไปและไม่ตามใจมากเกินไป เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ มีสิ่งที่ต้องทำและรับผิดชอบ
4. พลเมืองเด็ก เข้าใจและเคารพความแตกต่าง
โรงเรียนเป็นสถานที่ให้เด็กได้ออกจากสังคมคนใกล้ชิดคุ้นเคย ไปสู่สังคมใหญ่บุคคลแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นคุณครู หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน เด็กจึงต้องเรียนรู้การเปิดใจกว้างยอมรับความแตกต่างของกลุ่มเพื่อนใหม่ คุณครูจะต้องเป็นผู้ชักชวนให้เด็กเข้าใจถึงความแตกต่าง ฝึกการยอมรับตนเองและยอมรับซึ่งกันและกัน ผ่านการพูดคุยถามตอบ และกิจกรรมกระบวนการศิลปะ เมื่อจิตใจของเด็กสร้างสรรค์และมีพลังบวก เด็กก็พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้
การชี้ชวนให้เกิดการเชื่อมโยงความหลากหลายในธรรมชาติใกล้ตัว สู่การทำความเข้าใจความหลากหลายของเพื่อนๆ เรียนรู้ที่ยอมรับความแตกต่างนั้นๆ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นตัวของตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง อีกทั้งเรียนรู้ที่จะชื่นชมผู้อื่น เพื่อทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมห้องเรียนได้อย่างปกติสุข ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เด็ก เติบโตขึ้นอย่างมีความเคารพและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายโดยสมบูรณ์
5. พลเมืองเด็ก….จิตสาธารณะ
จิตสาธารณะ หมายถึง ความรู้สึกตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน การดูแลสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน หรือการดูแลสังคมให้น่าอยู่ รู้สึกถึงหน้าที่ในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ จิตสาธารณะ ไม่ได้หมายรวมถึงการทำเพื่อผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการพัฒนาจิตใต้สำนึกของตนเองให้เป็นบุคคลที่คิดถึงผู้อื่น คิดว่าในสิ่งที่เราทำอาจจะกระทบต่อผู้อื่น ทั้งกาย วาจา ใจ สิ่งของ เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม
การปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กมากๆ เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางคล้ายการจำลองสังคมเล็กๆ เตรียมเด็กๆให้พร้อมจะก้าวสู่สังคม เด็กๆได้ใช้สิ่งของร่วมกัน เด็กๆจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน การฝึกให้เด็กๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งของ ดูแลจุดต่างๆ เช่นห้องน้ำ สนามเด็กเล่น โรงอาหาร ห้องสมุด ก็ล้วนเป็นการปลูกฝังให้เขาใส่ใจดูแลของส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันทุกวัน ขยายสู่การให้พวกเขาได้ร่วมดูแลสถานที่ในชุมชน วัด ถนน ลานบ้าน แม่น้ำ ลำคลองใกล้ๆตัว เรื่องจิตสาธารณะ เป็นเรื่องความรู้สึกที่ต้องลงมือทำ โดยเริ่มจากตัวเอง โรงเรียน ชุมชน สู่สังคม
6 พลเมืองเด็กเรียนรู้เรื่องความมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ
ความล้มเหลวและประสบความสำเร็จในวัยเด็กคือสิ่งหนึ่งที่จะการันตีว่าเด็กคนนั้นเมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นเช่นไร การช่วยให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์บรรลุเล็กๆ จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง พัฒนาเป็นความเชื่อมั่นในตนเอง และถึงแม้ว่าเด็กจะล้มเหลวบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรสอนให้เด็กได้คิดตามเหตุผล เด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มมีสังคมใหม่ที่นอกเหนือไปจากครอบครัว ความรู้สึกเปรียบเทียบ อิจฉาเพื่อนก็จะเกิดขึ้นได้ ในวัยนี้คุณครูจึงจำเป็นต้องปลูกฝังทัศนคติที่และเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมให้เด็กมีความรักสามัคคีในหมู่คณะ ชื่นชมผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ภาคภูมิใจในตนเอง เห็นความสำคัญของคนอื่นเท่าเทียมกับตัวเอง และมีจิตใจกล้าหาญ พร้อมเผชิญและมุ่งมั่นกับเป้าหมายของตนเอง
ในชีวิตประจำวัน คุณครูค่อยๆ ปลูกฝังให้เด็กๆ เอาชนะใจตนเองและคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ทำให้บรรยากาศที่ดูยุ่งยากเป็นเรื่องสนุก ท้าทายให้เด็กๆ เรียนรู้และค้นพบคำตอบจากการลงมือทำ
7 พลเมืองเด็ก…มีหัวใจใฝ่สันติวิธี
สันติวิธีคือการจัดการความขัดแย้งวิธีหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นวิธีที่ทำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุดทั้งในระยะสั้นและยาว
จุดเริ่มต้นสำหรับสันติวิธีในเด็กเล็กคือการสอนให้เด็กๆ รู้จักขันติธรรม คือความอดทน อดกลั้น ไม่ว่าจะเป็นการอดทนต่อความยากลำบาก อดทนกับการรอคอย อดทนกับความเจ็บช้ำน้ำใจเมื่อถูกกลั่นแกล้ง รวมทั้งการสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักวิธีที่จะมีความสุขแบบช้าๆ เช่น การฟังเพลงบรรเลงอย่างสงบในสวน การได้อยู่ในบรรยากาศที่คุณครูกำลังจัดดอกไม้ในห้องที่ปลอดโปร่งพร้อมทั้งมีเสียงเพลงเบาๆ การได้ว่ายรูปช้าๆ อย่างอิสระ การได้อ่านหรือดูภาพจากหนังสือนิทานภาพดีๆ ก็ทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับการมีความสุขอย่างช้าๆ ทุกวัน เพราะด้วยโลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยการเสพสุขด้วยความเร็วสูง นั้นคือการเล่นเกมส์ ดูทีวี ดูการ์ตูน
นอกจากนี้การปลูกฝังให้เด็กหัดเรียนรู้จิตใจผู้อื่น เข้าอกเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักเอาใจเราไปใส่ใจเขา ก็เป็นส่วนสำคัญในการบ่มเพาะต้นกล้าแห่งสันติวิธี
ที่มา: สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน โดย สุมาลี พะสิม