ช่วยอาการลมชักถูกวิธี ไม่ต้องกลัวกัดลิ้น
แพทย์แนะวิธีช่วยอาการลมชักอย่างถูกต้อง ไม่ควรหาสิ่งของอุดปาก
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ภาวะลมชักในเด็ก เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมอง เกิดความผิดปกติ มีสาเหตุจากหลายอย่าง ทั้งจากกรรมพันธุ์ ปัจจัยระหว่างตั้งครรภ์มีการใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่จัด หรือระหว่างคลอดมีปัญหาสมองขาดออกซิเจน หลังคลอดเด็กเกิดติดเชื้อในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอัตราการเกิดอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1 ของประชากรเด็ก แต่หากได้รับการรักษาและทานยา ต่อเนื่องพบว่าร้อยละ 60-70 หายได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
นพ.ธนินทร์กล่าวต่อว่า อาการชักจะแสดงออกมาหลายลักษณะสัมพันธ์กับอายุ เช่น ชักเกร็ง ชักกระตุก ชักเหม่อ ซึ่งคนมักเรียกว่าฝันกลางวัน โดยเด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบมักพบอาการนอนสะดุ้ง งอตัว คอพับเข้าหาตัว เป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่มักจะตากระตุก หรือม่านตาขยายร่วมด้วย หากพบเด็กชักต้องปฐมพยาบาลด้วยการจับนอนตะแคงให้ศีรษะอยู่ต่ำ เอาของที่อยู่ในปากออก ไม่ให้ไปขวางทางเดินหายใจ ห้ามมุง ต้องเปิดให้อากาศปลอดโปร่ง สังเกตว่าเด็กชักท่าไหน หากชักนานต้องรีบส่งร.พ. และระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายอาจจะรีบจนทำให้หัวเด็กไปกระแทกกับขอบประตูได้ ที่ผ่านมาการปฐมพยาบาล ผู้ป่วยลมชักทำผิดมาตลอด ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าต้อง ใช้ช้อน หรืออะไรก็ตาม แม้แต่มือตัวเองมาอุดปากผู้ป่วย ป้องกันไม่ให้กันลิ้นตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ ห้ามทำเด็ดขาด เพราะผู้ป่วยชักนั้น ลิ้นจะหดตัว การหาสิ่งของอุดปาก โดยเฉพาะเด็กจะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะฟัน ที่ยังไม่แข็งแรง อาจจะหักและหลุดเข้าไปในหลอดลมทำให้เด็กเสียชีวิต พิการได้ เช่นเดียวกับ การงัดแขนขณะเกร็งอยู่ อาจจะทำให้กระดูกหัก จึง ไม่ควรทำ ไม่ว่าจะปฐมพยาบาลผู้ป่วยในเด็กหรือผู้ใหญ่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต