ช่วยกัน ‘อ่อนหวาน’ ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม
ผลสำรวจคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า เพราะมาตรฐานน้ำตาลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้น การบริโภคน้ำตาลเกินก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วน เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง อาทิ ความดัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงแรมสถานที่จัดประชุม เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม "คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำ ตาลซองไม่เกิน 4 กรัม" โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการน้ำตาลทรายบรรจุซอง 47 แห่ง ให้ผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัม พร้อมขอความร่วมมือโรงแรม สถานที่จัดประชุม ประมาณ 8,000 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัม
ทั้งนี้น้ำตาลอยู่ในอาหารมื้อหลักอยู่แล้ว เช่น กับข้าว ขนม ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก ดังนั้น เครื่องดื่มจึงมีทางเลือก ชา กาแฟที่คนไทยนิยมใส่น้ำตาลเพื่อลดความขมนั้น หากหันมาใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม จะลดปริมาณน้ำตาลได้คนละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบเท่าพลังงานที่ใช้ในการเดินไปกลับกรุงเทพฯ สระบุรี
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ หรือเฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) เน้น อาหารว่างที่ให้พลังงาน ต่ำกว่า 150 กิโลแคลอรีต่อวัน เช่น ผลไม้ ขนมที่ไม่หวานจัด และใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม
"ได้รับความร่วมมือจากมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามไปทั่วประเทศแล้วขณะนี้ รวมทั้ง กทม.ไปปรับอาหารว่างระหว่างประชุมเป็นผลไม้ ถ้าเสิร์ฟผลไม้โดยใช้น้ำตาล 4 กรัมเติมในชา กาแฟจะให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี"
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและว่า หลังจากนี้จะร่างหนังสือไปถึงปลัดทุกกระทรวงเพื่อขอความร่วมมือ นอกจากนี้กรมอนามัยยังได้จัดทำคู่มือ เฮลท์ตี้มีทติ้ง ที่รวมเมนูอาหาร อาหารว่าง สามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของกรมอนามัย หรือโหลดได้ที่ www.ebook.in.th/anamaibook/
ทั้งนี้มีคู่มือแนะอาหารว่างหลากเมนู อาทิ น้ำมะตูม เสิร์ฟพร้อมส้มโอให้พลังงาน 107. กิโลแคลอรี น้ำฝรั่ง เสิร์ฟพร้อมกับฟักทองนึ่ง ข้าวโพดต้ม กล้วยน้ำว้าต้ม ให้พลังงาน 192.7 กิโลแคลอรี กาแฟเสิร์ฟกับเค้กผลไม้ ส้มเช้ง ให้พลังงาน 166 กิโลแคลอรี เป็นต้น
ภาคเอกชนที่ขานรับกับแคมเปญน้ำตาล 4 กรัม ได้แก่ ร้านกาแฟแบล็คแคนยอน 200 กว่าสาขา และร้านคาเฟ่ อเมซอน จำนวน 1,000 สาขา โดยเริ่มต้นที่สาขาแรกในกรมอนามัย พร้อมจะขยายไปทั่วประเทศในปี 59 นอกจากนี้ยังมีบริษัทน้ำตาลมิตรผล ห้างแม็คโคร ผลิตน้ำตาล 4 กรัมขาย
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปรับลดน้ำตาลซอง 4 กรัม ทำให้ข้าราชการมีสุขภาพดีขึ้น ปัจจุบันไทยมีข้าราชการพลเรือน 358,735 คนทั่วประเทศ หากลดการบริโภคหวานลงได้จะช่วยยืดระยะเวลาให้กลุ่มผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้อีก ซึ่งในสังคมคนมี 3 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ใกล้จะเป็นเบาหวาน และกลุ่มที่เป็นแล้ว ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นยังมีพฤติกรรมการทานหวานมากเกินอยู่เป็นประจำ จึงมีโอกาสเป็นเบาหวานเร็วขึ้น
เพราะฉะนั้นแคมเปญจำกัดลดน้ำตาลเหลือ 4 กรัม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับน้ำตาลแต่ละวันลดลง ดังนั้นถ้าขับเคลื่อนในกลุ่มราชการและขยายไปสู่กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอีกประมาณ 80,000 คน รวมกันเกือบ 2 แสนคน ซึ่งในคนกลุ่มนี้แทนที่จะเป็นเบาหวานภายใน 2-3 ปี อาจจะชลอไป 5-7 ปี และยังช่วยลดปัญหาไขมันในหลอดเลือดสูงได้ด้วย
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. บอกว่าเป้าหมายการรณรงค์ในอาหารว่าง จะเน้นทำไปที่กลุ่มราชการก่อน และจะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสารกับสังคมเรื่องการบริโภคน้ำตาลให้พอดี 4 กรัม เมื่อดื่ม ชา กาแฟ เพื่อกระตุ้นตลาด เมื่อตลาดมีความต้องการผู้ผลิตจะผลิตน้ำตาลซอง 4 กรัมออกมามากขึ้น ที่ผ่านมาน้ำตาลขนาด 4 กรัม หาซื้อยากมากเพราะตลาดไม่นิยม
"โครงการนี้จะนำในรูปแบบการทำงานเรื่องนมต้องไม่หวาน สังคมรับรู้แล้วว่านมไม่ควรเติมน้ำตาล ผู้ผลิตก็หันมาผลิต ในยุคนี้กระแสเรื่องสุขภาพมาแรง ต่อไปเอกชน หรือร้านกาแฟทั่วไปก็จะผลิตสินค้ามาเพื่อรองรับตลาดเอง"
ผู้จัดการ สสส. ยกตัวอย่างว่าในสิงคโปร์ มีมาตรการให้จำหน่ายอาหารสุขภาพในโรงเรียนแทนที่จะออกกฎหมายบังคับปรากฏว่าตลาดอาหารสุขภาพเติบโตขึ้นเอง ผู้ผลิตก็มาผลิตตาม สสส.พยายามเรียนรู้การทำงานแบบใหม่ จะไม่ใช้วิธีห้ามแต่จะสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ เช่นเดียวกันบริษัทน้ำตาลอาจขายได้น้อยลง แต่ก็ได้ทำซีเอสอาร์ด้วยเมื่อมาร่วมกับโครงการ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีทางเลือกที่จะไปทำพลังงานได้มากกว่าจะนำมาบริโภคเพียงอย่างเดียว
ความหวานนำไปสู่โรคไม่ติตต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการตายร้อยละ 63 ของการตายทั้งหมดของประชากรโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยพรประไพ เสือเขียว