ชู 6 นวัตกรรมเสริมความแข็งแกร่งชุมชน
หนุนองค์บริหารส่วนท้องถิ่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างปัจจัยเสริมทางสุขภาพ ร่วมสร้างนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็ง
ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการความรู้พิธีความร่วมมือประเด็นเฉพาะนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปจัดระบบการจัดการในพื้นที่
ดังนั้น แผนสุขภาวะชุมชน สสส. จึงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นของตนเองเป็นทรัพยากรหลักในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่นำไปสู่ "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" โดยการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ มีองค์บริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 267 แห่ง จำนวนกว่า 2,000 คน เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างปัจจัยเสริมทางสุขภาพ โดยมุ่งเน้น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การควบคุมการบริโภคยาสูบ 2.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร 3.การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ 4.การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ 5.การสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน 6.การส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวในการปาฐกถา เรื่อง "ก้าวที่กล้าอย่างมั่นคงของชุมชนท้องถิ่นกับการยกระดับคุณภาพชีวิต" ว่า จากการสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ อปท.เพื่อสร้างความป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 385,565 คน ใน 4 ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิและโอกาส และด้านเข้าถึงข้อมูลและความรู้ พบว่า ในภาพรวมประชาชนพอใจมากถึงค่อนข้างพอใจถึง 95.7% ดังนั้นจะเห็นว่า อปท.เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทั้ง 6 ประเด็น โดยตั้งเป้าภายในปี 2558 ดังนี้ 1.พัฒนาเชิงระบบโดยจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุครบวงจร 250 แห่ง 2.สร้างเครือข่ายครอบครัวอบอุ่นในท้องถิ่น โดยเน้นกิจกรรมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน 3 วัย จำนวน 300 แห่ง 3.เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นผลิตอาหารเพื่อกินเอง และเพิ่มตลาดสีเขียวเชื่อมเมืองกับชนบทอย่างเกื้อกูล 4.สร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยเสริมพลังด้านบวก เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดการรวมกลุ่มองค์กรเด็กและเยาวชน "อาสาทำดี" 120 แห่ง 5.การควบคุมการบริโภคยาสูบ เริ่มจากครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิด-5 ปี ต้องเป็นครอบครัวปลอดบุหรี่ 100% และครอบครัวที่มีเด็ก 6-12 ปี เป็นครอบครัวปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และคนในครอบครัวผู้ป่วยโรคเรื้อรังปลอดบุหรี่ 6.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุ โดยใช้มาตรการกฎหมายและมาตรการทางสังคม ผ่านกลไกครอบครัว เด็ก วัยรุ่น เพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย คือ 1.ลดภาระค่าใช้จ่าย 2.ลดความรุนแรงในครอบครัว และ 3.ลดภาระจากความพิการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง