ชู สสส. ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพอาเซียน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียน เรื่องระบบงบประมาณที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบ (ASEAN Regional Workshop on Sustainable Funding for Tobacco Control) จัดโดย มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance-SEATCA) ร่วมกับ สสส. โดยมีผู้เข่าร่วมประชุมกว่า 80 คน มาจากผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง องค์การปกครองระดับท้องถิ่น นักวิชาการ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และ สิงคโปร์ ตลอดจนผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรนานาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก (WHO-WPRO) และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
โดย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านการควบคุมยาสูบ ที่มีกลไกการทำงานด้านงบประมาณที่ยั่งยืน โดยมี สสส. เป็นต้นแบบการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการลดผลกระทบและควบคุมยาสูบที่เข้มแข็งในภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่มีกลไกงบประมาณที่ยั่งยืนในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกระบวนการและอุปสรรคในการพัฒนากลไก สำหรับประเทศที่มีกลไกงบประมาณที่ยั่งยืนแล้ว จะช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านการขับเคลื่อนและก้าวข้ามความท้าทายในการดำเนินงานของกลไกในประเทศตน และเพื่อเชื่อมโยงการทำงานระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็นระบบกลไกงบประมาณที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการควบคุม
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตระดับโลก ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ 25% ภายในปี 2568 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการลดอัตราการเสียชีวิตจากยาสูบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง ทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากยาสูบมากถึง 6 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากยาสูบเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคนต่อปี หากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วนระงับการระบาดของยาสูบ ซึ่งกลุ่มประเทศที่รายได้น้อยและปานกลาง ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากยาสูบที่สูงมาก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากยาสูบสูงขึ้น 1.2-13.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากภาษียาสูบที่รัฐบาลได้รับ
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สสส. ก่อตั้งขึ้น ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพในทุกมิติ โดยเฉพาะการลดผลกระทบทางสุขภาพจากบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีงบประมาณบริหารกองทุนมาจากภาษีสรรพสามิตจากสุราและยาสูบ 2% ซึ่งถือเป็นกลไกการเงินการคลังที่ยั่งยืนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มีผลการดำเนินงาน มีแนวปฏิบัติที่โดดเด่น (Best Practice) ที่เป็นต้นแบบของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงกลไกที่ดีที่สุดบนพื้นฐานของหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายด้านสุขภาพและรายรับทางการคลัง โดยไม่รบกวนงบประมาณปกติของรัฐบาลเพื่อการบริหารและพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
ดร.คาเมน ออเดรา-โลเปซ ผู้ประสานงานด้านการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังราว 14 ล้านคนทั่วโลก อายุระหว่าง 30-70 ปี กว่าครึ่งเกิดจากบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้มีต้นทุนในการรักษาสุขภาพสูงมาก ทางออกในการแก้ปัญหาคือทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของประชากรเป็นลำดับแรก มากกว่าการทุ่มงบประมาณในการรักษาที่มักไม่ได้ผล โดยใช้กลไกการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.รัฐบาล 2.องค์กรสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชน และ3.องค์กรธุรกิจคือ ยาสูบ และแอลกอฮอล์
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข