ชูแนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต”
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
แฟ้มภาพ
ประเทศไทยเตรียมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล กระตุ้นทุกภาคส่วนไม่ทนต่อการทุจริต รัฐบาลร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สสส.ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เตรียมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ชูแนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” หวังกระตุ้นจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ทนต่อการทุจริต
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมรณรงค์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี พร้อมรับมอบเสื้อและเข็มกลัดตราสัญลักษณ์งานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ,พันตำรวจโทวันนพ สมจินตนา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.,นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.,นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เข้าร่วม
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติ และเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงมีการรวมพลังความร่วมมือโดยรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น 2 กิจกรรม คือ 1.การนำหลักส่งเสริมสุขภาพร่วมบูรณาการกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตด้วยการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ส่งเสริมความดีร่วมต้านการทุจริต โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย
ได้จัดกิจกรรม “เดิน-วิ่ง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม ราษฎร์ – รัฐ ร่วมใจไม่เอาคอร์รัปชัน” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “GOOD GUY RUN 2019” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และ 2.การประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยความร่วมมือของรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2562 เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดพร้อมกันทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด หอการค้าจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในจังหวัดด้วยการบูรณาการความร่วมมือ
นางสุวณา กล่าวต่อว่า การรณรงค์งานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ปีนี้ ใช้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” หวังให้เกิดกระแสการตระหนักรู้ว่าการทุจริตโกงชาติ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่ก่อให้ความเสียหายอย่างรุนแรง ให้คนไทยรู้สึกว่าการทุจริตทุกรูปแบบ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบได้อีกต่อไป ตลอดจนให้คนไทยน้อมนำหลักพอเพียงและจิตอาสา มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ค่านิยมของการไม่โลภ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของสุจริตชน นอกจากนี้ต้องการให้นานาชาติรับรู้ถึงการดำเนินการ และความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การลดปัญหาการทุจริต และเป็นการยกระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2564
พันตำรวจโทวันนพ สมจินตนา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index, CPI) ของประเทศไทยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ถึง 2561 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 3 หรือ 30 แต่ต่ำกว่า 4 หรือ 40 มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ในปี พ.ศ. 2561 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่าปรากฏว่า 2 ใน 3จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน สำหรับไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 102 จาก 140 ประเทศ โดยมีการประเมินจาก 9 แหล่งข้อมูล
จะเห็นว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ คือ 1.สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2.ยกระดับเจตจานงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริต 3.สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย 4.พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก 5.ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต 6.ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index, CSI) ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่ 1 พบว่าคนไทยไม่สามารถทานทนกับการทุจริต ค่าคะแนนอยู่ที่ 1.87 ทั้งนี้ ระดับค่าคะแนน จะอยู่ระหว่าง 0 – 10 ถ้าค่าคะแนนใกล้ 10 หมายความว่า ยิ่งสามารถทนได้กับการทุจริต ถ้าค่าคะแนนใกล้ 0 หมายความว่ายิ่งไม่สามารถทนได้กับการทุจริต จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีแนวโน้มที่ไม่ทนต่อการทุจริต ประเด็นที่ 2 คนไทยอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตสูงขึ้น
โดยผลสำรวจดังกล่าว คนไทยมากถึงร้อยละ 86 ต้องการและยินดีเข้ามามีส่วนป้องกันการทุจริต ดังนั้น ทั้งรัฐบาล ภาครัฐและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ป.ป.ท. ตระหนักถึงความตื่นตัวของคนไทย ของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นอย่างดี จึงได้มีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้การทำงานตรวจสอบรวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลงโทษผู้กระทำผิดให้รวดเร็วขึ้น หรือให้ความเป็นธรรมกับผู้กล่าวหาได้รวดเร็วขึ้น กฎหมายจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงาน
ขณะเดียวกัน เมื่อคนไทยไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล หรือ Whistle Blower มีการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนตามที่ร้องขอ มีมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล มีการให้รางวัลสินบนแก่ผู้ให้ข้อมูลเมื่อสามารถริบทรัพย์สินตกเป็น ของแผ่นดิน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัว หรือมีส่วนร่วมในการรณรงค์ การให้ความรู้ การต่อต้าน การชี้ช่องเบาะแสการทุจริต และการกำหนดให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงสะดวก ซึ่งเป็นผลดีต่อการให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐ อันจะนำไปสู่ความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของภาครัฐ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า งานวิ่ง “GOOD GUY RUN 2019” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน ซึ่งผู้ชนะเลิศชายหญิงในการแข่งขันประเภทวิ่ง 13 กม. วิ่ง 5 กม. รวม 4 รางวัล จะเข้ารับโล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 นับเป็นการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงการดูแลสุขภาพกับการสร้างจิตสำนึกและความมีระเบียบวินัยที่ถูกต้อง และเป็นงานแรกที่มีการจัดทำพันธกิจเพื่อสร้างมาตรฐานในการวิ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการต่อต้านการทุจริต โดยมี 6 พันธกิจ ดังนี้ 1) BIB เราไม่ขาย เพราะ BIB คือเอกสิทธิ์ ไม่ซื้อและไม่ขาย! 2) มาตรง ลงทะเบียน Check in ก่อนสตาร์ท 3) ออกตัวเนี๊ยบ ไม่แซง และไม่แทรก 4) วิ่งครบทุกหมุด ฟินให้สุดตลอดเส้นทาง 5) รอยยิ้มและน้ำใจ = อาวุธใหม่ในการวิ่ง 6) จบแบบเท่ ๆ อวดความดี การันตีความเป็น ‘Good Guy’
สำหรับกิจกรรมนี้เป็นการร่วมแสดงพลังบวก พลังความดีด้วยการซื่อสัตย์ ต่อตัวเอง เพราะทุกคนต้องเคารพกฎกติา ไม่เอาเปรียบผู้อื่นด้วยการโกงหรือลัดเส้นทางวิ่ง ดังนั้นเราทุกคนสามารถแสดงพลังความดี ให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าเราสามารถเริ่มต้นแก้ไขปัญหา คอร์รัปชันได้ง่ายๆ ด้วยตัวเราเอง