ชูเทศกาลอาหาร ลดนักดื่มหน้าใหม่

ชูเทศกาลอาหาร ลดนักดื่มหน้าใหม่ thaihealth


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนที่เป็น 'นักดื่มหน้าใหม่' มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มจะเป็นนักดื่มประจำเพิ่มมากขึ้น


เทศกาลอาหารปลอดภัยอร่อยได้…ไร้แอลกอฮอล์จึงเกิดขึ้นโดยการคิดริเริ่มของ "นางสาวณัจยา แก้วนุ้ย"ผู้จัดการโครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพอร่อยได้…ไร้แอลกอฮอล์แผนงานพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะและสนับสนุน ทุนอุปถัมภ์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีวัฒนธรรมที่เล็งเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนลานเบียร์ให้เป็นลานวัฒนธรรมอาหารเพื่อส่งเสริมอาหารพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น ภายใต้คำขวัญ"อร่อยได้…ไร้แอลกอฮอล์"ตลอดจนการสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้คำนึงถึงสุขภาพที่ดี


"เราเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2552 โดยการจัดเทศกาลอาหารปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ขึ้นในแต่ละภูมิภาค นำร่องที่จังหวัดพัทลุงและขยายไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งหมด 35 จังหวัดทั่วประเทศและจะยกระดับเป็นประชาคมร้านอาหารเพื่อสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่และต่อยอดไปยังจังหวัดข้างเคียงทั่วประเทศในอนาคต"


นางสาวณัจยาเล่าต่อว่า เทศกาลอาหารนี้นอกจากจะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังมีการรณรงค์เรื่องปลอดกล่องโฟมในการใช้เป็นภาชนะใส่อาหารด้วยที่สำคัญคือก่อนเข้างานต้องมีอ่างล้างมือให้กับผู้มารับประทานอาหารและนักท่องเที่ยว รวมถึงมีการรณรงค์การไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำและดูแลสุขาภิบาลโดยมีผ้ากันเปื้อนสวมหมวกคลุมผมตลอดเวลา พยายามพัฒนาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ


ล่าสุดได้จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีหน่วยงานต่างๆ จาก 15 จังหวัดทั่วประเทศร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงไม่จำหน่ายเหล้าเบียร์ให้แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเพื่อพัฒนาแนวคิดและสร้างการรับรู้และความเข้าใจตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีการรณรงค์ลด ละ เลิกการดื่ม การจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน สถานีบริการน้ำมันสวนสาธารณะต่างๆ


"สำหรับประชาคมร้านอาหารไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารเท่านั้นแต่รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนในชุมชน อสม. ที่จะมาร่วมกันผนึกกำลังในการส่งเสริมการสร้างความรู้ สร้างความตระหนักให้กับนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจาก 15 จังหวัดนำร่องได้แก่ เชียงราย พะเยาอุตรดิตถ์ อุทัยธานี สุโขทัย ปทุมธานีปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สตูลพัทลุงสงขลา ปัตตานี หนองคาย บุรีรัมย์และศรีสะเกษมาลงนามความร่วมมือกันว่าจะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปิ ผู้จัดการโครงการฯ เล่า


ทางด้าน "ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม" ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.บอกว่านับเป็นโอกาสดีที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหารที่มาจากทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อของธุรกิจน้ำเมาซึ่งถ้าเราไม่พยายามช่วยกันคนละไม้คนละมือ เด็กๆ เหล่านี้เมื่อเริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อยก็จะกลายเป็นนักดื่มประจำนอกจากเสียอนาคตแล้วยังเป็นผลที่นำมาซึ่งความรุนแรงต่างๆในสังคม


"ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นความตั้งใจของประชาคมผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศกับ สสส. ที่จะทำงานร่วมกันไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยคาดหวังว่าจะขยายพื้นที่ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายร้านให้ความร่วมมือดี แต่บางร้านที่ยังเข้าใจว่าถ้าไม่ขายเหล้าจะขายอาหารได้ไม่ดี ซึ่งผลคือตรงกันข้ามเพราะยิ่งถ้าไม่ขายเหล้าเลยกลับพบว่าผลประกอบการไม่แย่ลงแต่กลับขายดีขึ้น เพราะลูกค้าที่มารับประทานอาหารชอบมากขึ้นเพราะไม่มีขี้เมามากวนใจ และรายได้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" ศ.นพ.อุดมศิลป์เล่า


นอกจากการลงนามบันทึกข้อตกลงไม่จำหน่ายเหล้าเบียร์ให้แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีในครั้งนี้แล้วยังมีเวทีเสวนาร่วมสร้างแนวทางในการปฏิบัติตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 โดยนายมานพ  แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และผู้แทนผู้ประกอบการร้านอาหาร


การเปลี่ยนทัศนคตินั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากไม่ลดละความพยายามประชาชนจะค่อยๆ เห็นความสำคัญ และขยายเรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวางและเห็นว่านี่คือความร่วมมือร่วมใจกันของประชาคมเพื่อสร้างสังคมที่เป็นสุข.


 


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code