ชูอัตลักษณ์ท่าคา สืนสานน้ำตาลมะพร้าว
เยาวชนท่าคา ร่วมสืบสานน้ำตาลมะพร้าวตามรอยภูมิปัญญาท้องถิ่น
“…ลงไปเรียนรู้เองจะเกิดบางสิ่งบางอย่างในใจ แม้ตอนแรกจะลงไปแบบไม่มีอะไร แต่พอได้ลงไปทำ เรียนรู้จริง ก็อาจจะเกิดจิตสำนึกเหมือนกับผมที่เกิดขึ้นมาแล้วครับ”
นี่คือเสียงสะท้อนของกลุ่มเยาวชนตำบลท่าคา ที่กระตือรือร้นกับการตามรอยภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ “น้ำตาลมะพร้าวท่าคา” อันเลื่องชื่อนั่นเอง ที่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายาย ยาวนานหลายชั่วอายุคน
ประโยชน์ของต้นมะพร้าวสามารถทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใบทำเครื่องจักสาน ไม้กวาด เชื้อเพลิงสำหรับติดไฟ ลำต้นขัดทำไม้กระดาน เสา เฟอร์นิเจอร์ ยอดใช้ประกอบอาหาร ลูกใช้รับประทาน น้ำหวานจากงวงมะพร้าวนำมาผ่านกระบวนการเป็นน้ำตาลมะพร้าว
แต่เนื่องจากความเจริญมากขึ้น ทำให้รุ่นลูกหลานและคนรุ่นหลังเปลี่ยนอาชีพไปประกอบอาชีพอื่นที่มีความสะดวกสบายมากกว่า เหนื่อยน้อยกว่า ไม่มีความเสี่ยงสูงอย่างการประกอบอาชีพการทำน้ำตาล จึงเหลือแต่เพียงคนรุ่นเก่าที่ยังคงทำอยู่ ซึ่งบางคนก็เลิกทำอาชีพนี้ไป
ด้วยความห่วงใยทำให้เกิดโครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าวขึ้นมา โดยเยาวชนตำบลท่าคา ประกอบด้วย นัส-ชมน์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ, พีท-ชาตรี ลักขณาสมบัติ, ปีขาล-ขันติพงษ์ กาวิระใจ, หนุ่ม-ธรรมนธี สุนทร และกิ๊ฟ-ทวีพร คำสอนภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีขาล-ขันติพงษ์ กาวิระใจ เล่าถึงกระบวนการทำงานว่า เริ่มแรกกลุ่มได้ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อได้ทราบถึงปัญหาในการทำน้ำตาลมะพร้าว การเก็บข้อมูลก็ชวนตกใจ เพราะจากการสอบถามจาก อบต.ท่าคา ฐานข้อมูลบอกว่าในตำบลท่าคามีเตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวกว่า 100 ราย แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่าเหลือเตาเพียง 20 รายเท่านั้นที่ทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่
แต่น้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ มีอยู่ไม่ถึง 5 ราย และพบว่าผู้ประกอบการประสบปัญหาด้านการตลาด เพราะมีการแข่งขันด้านราคา หลังจากเก็บข้อมูลได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมให้กับเด็กเยาวชนในพื้นที่ และที่โรงเรียนถาวรานุกูล โดยมีเป้าหมายสร้างการเรียนรู้วิถีชีวิตอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว
หลังจัดกิจกรรมกับเด็กๆ แล้ว ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่ โดยเชิญผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าวในพื้นที่เข้าร่วมประชุม เพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางพัฒนาอาชีพต่อไป
กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากนายวินัย นุชอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา มาเป็นประธานเปิดงาน และนายอาคม จันทรกูล รองธรรมาภิบาล ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสถานการณ์ภาพรวมน้ำตาลมะพร้าวของจังหวัดและแนวคิดในการทำสหกรณ์ ผลการจัดกิจกรรมทำให้ อบต.ท่าคา รับเรื่องที่จะผลักดันสนับสนุนผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าวในการสร้างแบรนด์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้เท่านั้น
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการขานรับการรวมตัวเป็นสหกรณ์ โดยคาดหวังว่าจะช่วยเรื่องการรวบรวมผลผลิตไปจำหน่าย และกิจกรรมท้ายโครงการมีการนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นแผนที่แสดงที่ตั้งของผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าว แสดงพิกัดเป็น GPS นำไปลงในเว็บไซต์ของ อบต.ท่าคา และเพจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งด้วย
หลังทำโครงการจบเรียบร้อยแล้ว เยาวชนได้ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ครั้งนี้ โดย “นัส” ชมน์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ บอกว่า โครงการทำให้มีความสุข แม้ว่าบางครั้งเหนื่อย มันก็เป็นการเหนื่อยที่มีความสุข เราได้เรียนรู้ ได้พบเจอคนได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ทำ ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำ ได้เรียนรู้จริง
“อยากบอกเพื่อนๆ ว่าควรจะได้โอกาสลงมาทำกิจกรรมแบบนี้ จากที่เราได้เรียนรู้ต่างๆ นานา ถ้าหากหมดคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ สิ่งดีๆ เช่น น้ำตาลมะพร้าว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็อาจจะหายไป ถ้าเราไม่สืบทอด ไม่ทำต่อ มันอาจเป็นแค่ตำนาน พอเราอายุ 50 หรือ 60 ปี ลูกหลานมาถามจะตอบว่าอย่างไร ว่าน้ำตาลมะพร้าวเป็นอย่างไร แล้วผมตอบไม่ได้ เพราะมันเหลือแค่เพียงชื่อในตำนาน ก็เป็นความรู้สึกผิดอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้สืบทอดให้มันอยู่มาอยู่ถึงรุ่นเขาได้”
“นัส” กล่าว และว่า ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนเราต้องลงมือทำ อย่างน้อยๆ เป็นการจุดประกายความคิดให้เขาหันมาสนใจ ถ้าทุกคนไม่ได้ลงไปสัมผัสจริงก็อาจจะคิดว่าไม่หายไปไหนหรอกมันยังอยู่ แต่ถ้าได้ลงมาสัมผัสจริงถึงจะรู้ว่าสถานการณ์มันลดลงถึงไหนแล้ว ถ้าเราไม่เข้าไปช่วย และเป็นคนหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียง อนาคตข้างหน้าน้ำตาลมะพร้าวก็จะเป็นแค่ตำนานก็ได้
“ลงไปเรียนรู้เองจะเกิดบางสิ่งบางอย่างในใจ แม้ตอนแรกจะลงไปแบบไม่มีอะไร แต่พอได้ลงไปทำ เรียนรู้จริง ก็อาจจะเกิดจิตสำนึกเหมือนกับผมที่เกิดขึ้นมาแล้วครับ” นัสระบุ
“พีท” ชาตรี ลักขณาสมบัติ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ผมได้ความรู้เรื่องน้ำตาลมะพร้าวมากขึ้น และทราบว่ามีความเป็นเอกลักษณ์และคลาสสิกที่มะพร้าวสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเปลือก กะลา เนื้อและน้ำของมันที่รสอร่อย
“น้ำตาลมะพร้าว” ได้ช่วยปลุกจิตสำนึกให้เด็กๆ กลุ่มนี้ และต่อลมหายใจให้กับอาชีพของชาวชุมชนท่าคาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์