ชูนักโภชนาวัยจิ๋ว โตไปไร้ความอ้วน

      ในอดีตการเลี้ยงลูกเล็กให้อ้วนเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ญาติพี่น้องนิยม เพราะดูแข็งแรง น่ารัก ใครเห็นก็ชอบอุ้มและทักทายเป็นประจำ แต่สมัยนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความอ้วนกลายเป็นผลร้าย นำมาซึ่งปัญหามากมาย และยิ่งสถานการณ์ของประเทศตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมของคนลงพุงในอีกไม่ช้า ที่กำลังคืบคลานเข้ามาจากความความอ้วนของเด็กไทย


/data/content/26183/cms/e_cfgijmuvw179.jpg


     เมื่อดูจากสถิติ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ในรอบ 6 ปี คือตั้งแต่ปี 2549-2555 พบโรคอ้วนในเด็ก 1-5 ปี สูงขึ้น 6.9 เป็นร้อยละ 10.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคอ้วนในเด็กปฐมวัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 6-7 ปีผ่านมา และหากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้วจะพบว่า สถิติของเด็กไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก โดยการเกิดโรคอ้วนในเด็ก 6-12 ปี พบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่พบในเด็กปฐมวัย 1.7 เท่า


    สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กไทยเผชิญปัญหาเหล่านี้ เพราะสภาพแวดล้อมของครอบครัวและสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมก้มหน้า ทำให้พวกเขาขยับตัวน้อยลง จากสถิติพบว่าเด็กและเยาวชนที่ใช้เทคโนโลยีภายใน 1 วัน จากโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน สภาวการณ์เด่นด้านเด็กและเยาวชนในรอบปี 2554-2555 พบว่า ใน 1 วัน เด็กเล่นอินเทอร์เน็ต 198 นาที ดูโทรทัศน์ 177 นาที และคุยโทรศัพท์หรือแช้ต 166 นาที


    ประกอบกับพฤติกรรมส่วนตัวและโฆษณาจากสื่อ อย่างเช่น เด็กนิยมกินอาหารจานด่วนที่เป็นวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น อาหารกินเล่นที่เป็นถุงๆ จำพวกแป้ง น้ำตาลและไขมัน และที่สำคัญขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ


    นอกจากนี้ยังพบปัญหาสำคัญมาจากการดื่มน้ำอัดลม ที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม เพราะทุกครั้งที่ดื่มเหมือนกินน้ำตาล 1 ช้อน อีกทั้งยังนำมาถึงผลเสียต่อร่ายกาย เช่น ทำให้สานเคลือบฟันกร่อน ฟันบางลง หรือขอบฟันแตกได้ง่าย การดื่มวันละครั้ง อาจทำให้เด็กอายุ 12 ปี มีโอกาสฟันกร่อนถึงร้อยละ 59 เด็กที่ดื่มน้ำอัดลมลดลงจากวันละ 2 แก้วเหลือ 1 แก้ว ภายใน 12 เดือน จะลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ลด 


    หากไม่มีการปรับปรุงและแก้ไข ผลกระทบเหล่านี้จะลุกลามไปเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน นำมาซึ่งความเสี่ยงของโรคเรื้อรังและรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันสูงในเลือด และลามไปถึงอัมพฤกษ์และอัมพาต


    ดังนั้นในครอบครัวที่มีลูกๆ หลานๆ เป็นเด็กอ้วนจึงต้องคิดถึงอนาคต สอนให้เด็กรู้จักลดน้ำหนัก เลือกกินอาหารที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง โดยสามารถเริ่มต้นจากนำแนะนำจากเครือข่ายคนไทยหัวใจไร้พุง ภาคีของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยอาศัยหลักการง่ายๆ เรียกว่า 3 อ. ที่ปฏิบัติอย่างจริงจังจะสามารถจัดการภัยอ้วนแน่นอน


    คือการควบคุม "อาหาร การหันมา ออกกำลังกาย" และการควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ ไม่เครียด เพราะความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การกินมากกว่าปกติ


    โดยในรายของเด็ก ผู้ปกครองต้องจำกัดปริมาณการบริโภคขนม ซึ่งควรจะรับประทานไม่เกินวันละ 2 ห่อ และต้อง/data/content/26183/cms/e_abcdhmnsw369.jpgเสริมด้วยผลไม้สด หรือเลือกขนมขบเคี้ยวจำพวกถั่ว หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว อย่างเช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง เพราะมีส่วนประกอบของไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล และยังมีโปรตีนกับใยอาหารอยู่ด้วย


    ขณะที่ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขึ้นภาษีเพิ่มขึ้นในหมวดกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง แต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ซึ่งทั่วโลกใช้มาตรการนี้สามารถควบคุมผู้บริโภคได้ลดลง


    ด้าน นพ.สุรณัฐ แก้วณิมีย์ ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สสส. กล่าวเสริมว่า การควบคุมและลดน้ำหนักที่ปลอดภัยในเด็ก คือการจัดอาหารและจำกัดพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การจำกัดพลังงานควรได้รับการดูแลโดยนักโภชนาการ หรือกุมารแพทย์ และโรคอ้วน ยังปัญหาและมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมาก


     ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแลรักษาเด็กที่มีโรคอ้วนประสบความสำเร็จคือ การให้ความสำคัญและความร่วมมือของผู้เลี้ยงดูเด็กและครอบครัว และต้องเริ่มตั้งแต่การให้โภชนาการที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคอ้วนลงได้


    หากทุกคนปฏิบัติได้ตามนี้ พร้อมความร่วมมือจากทุกฝ่าย มั่นใจว่าสถานการณ์เด็กอ้วนของประเทศก็จะดีขึ้น หากมีข้อสงสัยติดต่อเครือข่ายคนไทยไร้พุงได้ที่ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทรศัพท์ 0-2716-6744  หรือ E-mail : raipoong@hotmail.


     แนะเด็กอ้วนออกกำลังกายถูกวิธี


    ใครอาจกังวลว่าเด็กอ้วนจะออกกำลังกายลำบากหรือไม่ เพราะรูปร่างเป็นอุปสรรค เรามีคำแนะนำง่ายๆ มาฝากผู้ปกครองเพื่อเป็นหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง


    เบื้องต้นเลือกสวมรองเท้าสำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะที่รับแรงกระแทกได้ดี มีขนาดพอดีเท้า ไม่รัดหรือหลวมเกินไป จากนั้นทุกครั้งที่ออกกำลังกายต้องอุ่นเครื่อง 5-10 นาที เพื่อเป็นการเตรียมให้ร่างกายพร้อมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย 


    โดยเลือกประเภทกีฬาที่เบาถึงปานกลาง อาทิ เดินเร็วๆ ครึ่งชั่วโมง วิ่งเหยาะๆ ปิงปอง แบดมินตัน ว่ายน้ำ หรือเลือกกีฬาที่พวกเขาชอบเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ไม่เบื่อง่าย และควรออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เพื่อเสริมสมรรถภาพของหัวใจและปอดด้วย แต่ไม่ต้องให้พวกเขาเหนื่อยมากจนเกินไป โดยผู้ปกครองต้องสอนหรือช่วยสังเกตให้พวกเขา และที่สำคัญต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างต่อเนื่อง หากทำได้เป็นนิสัย สุขภาพเด็กไทยดีแน่นอน.


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code