ชุมชนฮ่องอ้อ สำนึกรักประเทศไทย

บริบทแห่งวิถีของชุมชน งานบุญคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ

 

ฮ่องอ้อชุมชนน่าอยู่ ปลาปูมีอยู่มากมาย   

ใจดีทั้งหญิงและชาย แสนสบายค่ำมาอาบน้ำมูน..ๆ

            เย็นย่ำค่ำลงริมฝั่ง นอนนั่งรับลมแม่คุณ

สมเป็นคนลุ่มน้ำมูน แก้มจูนพู่นอาบน้ำมูนม่วนบ่..

* ไปมาทั่วถิ่นแดนไทย ใกล้ไกลก็ไม่เหมือนฮ่องอ้อ

คึดฮอดผักเหมือดผักเปือย หาปลาบ่เหมื่อยต้มแกงหลายหม้อ

ผักไผ่กินกับก้อยปลา หอมแจ่วแมงดาคิดถึงฮ่องอ้อ

ร้อยปีพันปีก็ช่าง ๆ โอกาสว่างๆจะหาทางติดต่อ

            ฮ่องอ้อ แม้วันนี้ห่าง ระยะทางจะร้อยกี่ ก.ม.

จะกลับมาชุมชนฮ่องอ้อ เก็บใจไว้รอ ฮ่องอ้อประเทศไทย..ๆ

 

ชุมชนฮ่องอ้อ สำนึกรักประเทศไทย

            เสียงบทเพลง ฮ่องอ้อประเทศไทย ที่เด็กๆฮ่องอ้อทั้งหญิงและชาย  กำลังยืนเรียงรายกันร้องประสานเสียงอย่างตั้งใจ  เพื่อนำเสนอบริบทแห่งวิถีของชุมชนผ่านบทเพลงที่สนุกสนานถูกร้องขึ้นอย่างภาคภูมิใจอีกครั้ง ผ่านสายตาคนดูเกือบสองร้อยคน ในงาน บุญคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา  ซึ่งจัดโดยเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาภาคอีสานร่วมมือกับชุมชนฮ่องอ้อ  ณ ชุมชนฮ่องอ้อ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี   เพื่อแสดงความรัก ความกตัญญู และอุทิศส่วนกุศลให้กับ กุ้งหอย ปู ปลา และมวลสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนตลอดมา

 

            เช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก เยาวชนหลายคนมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อพาคนรักไปเดินห้างสรรพสินค้า ไปเที่ยว ไปทานข้าว หรือไปดูหนัง  ในมือของแต่ละคนบ้างก็ถือดอกกุหลาบแดง บ้างก็อุ้มตุ๊กตาตัวใหญ่ ที่แฟนซื้อให้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารักกัน  

 

ตรงกันข้ามกับเด็กและเยาวชนในชุมชนฮ่องอ้อ   ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำมูน มีประชากร เพียง ๔๐ ครัวเรือน ที่ตื่นตั้งแต่เช้า มารวมตัวกันเพื่อแสดงความรัก ความกตัญญูต่อบ้านเกิด เมืองนอนตนเอง  เด็กตัวเล็กๆ ในมือถือถุงดำเดินรอบๆ บริเวณชุมชนเพื่อเก็บเศษขยะ ให้ชุมชนที่เขาอยู่สวยงามพร้อมที่จะต้อนรับแขกผู้มาเยือนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เด็กตัวโตขึ้นมาหน่อยช่วยกันนึ่งข้าวเหนียว เพื่อเตรียมทำข้าวจี่ทาไข่ จิ้มน้ำพริกให้แขกกินเป็นอาหารเช้า ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

 

             ขอบฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากสีแดงระเรื่อเป็นสีคราม แสงแดดเริ่มจ้าสว่างขึ้นเหนือปลายไม้ ส่องกระทบน้ำเป็นประกาย ประกอบกับเรือหาปลาที่วิ่งผ่านไป มา ทำให้ผิวน้ำเป็นรอนคลื่นมองเห็นระยิบระยับวับวาว ประหนึ่งประดับด้วยเพชรตลอดทั้งสาย ผู้คนมาร่วมงานเริ่มหนาตาขึ้น เสียงผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ทางชุมชน ทุกฝ่ายงานเตรียมพร้อม และประจำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับให้ผู้เข้าร่วมที่เดินทางมาถึงแล้ว มารวมกันที่ท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำมูน เพื่อเดินทางไปยังเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางแบ่งออกเป็นสองสายคือทางบกโดยการเดิน กับทางน้ำโดยการล่องเรือ ซึ่งแต่ละเส้นทางจะมีเด็กและเยาวชนฮ่องอ้อทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ชุมชนเล่าและบรรยายเรื่องราววิถีชุมชนให้กับผู้สนใจเรียนรู้ตลอดเส้นทาง

 

            เมื่อทุกคนเดินทางไปถึงเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ซึ่งเป็นเรือนแพไม้ไผ่ ลอยอยู่ริมฝั่งน้ำ สักครู่ก็เข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กุ้ง หอย ปู ปลา โดยการนิมนต์พระจำนวนเก้ารูป เจริญพระพุทธมนต์และเป็นประธานในการปล่อยพันธุ์ปลาซึ่งได้รับอนุเคราะห์จากสำนักงานประมงจังหวัดอุบลฯจำนวน ประมาณสามแสนตัว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จผู้เข้าร่วมงานทุกคนก็ช่วยกันปล่อยพันธุ์ปลา เสร็จแล้วเดินทางกลับชุมชนโดยการสลับเส้นทางกันระหว่างทางบก กับทางน้ำในการเดินทาง

 

            เมื่อเดินทางกลับมาถึงชุมชน ก็ได้เวลาถวายภัตราหารเพลพระพอดี ซึ่งปีนี้ได้นิมนต์พระสงฆ์ทั่วทั้งตำบลมาร่วมกิจกรรมงานบุญจำนวน 23 รูป เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตราหารและให้ศีลให้พรเสร็จ ก็ต่อด้วยกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมชุมชนโดยเด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมงาน เช่น การเต้นรำประกอบเสียงเพลงของเด็กๆ ฮ่องอ้อ การร้องเพลงจากเยาวชนฮ่องอ้อ การแสดงดนตรีพื้นบ้านจากวงลำนำอีสาน เป็นต้น ซึ่งทุกรายการก็สร้างความสนุกสนานรื่นเริงให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก

 

            ปิดท้ายงานบุญด้วยการแข่งกีฬาทางน้ำเชื่อมสัมพันธ์ ทั้งคนภายในและภายนอกชุมชน เช่นกีฬาพายเรือ หัวใบ้ท้ายบอด การแข่งพายเรือเร็ว โดยจัดแข่งเป็นรุ่น เยาวชน  ชาย หญิง ผู้ใหญ่ และคนเมือง ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมอย่างมิอาจลืมได้

 

            แสงแดดเริ่มอ่อนแรงทอแสงเป็นประกาย  ลมพัดผ่านผิวกายพาให้สดชื่น หายเหนื่อยลงบ้าง  เด็กและเยาวชนลงเล่นน้ำดำผุดดำว่ายในแม่มูนอย่างสนุกสนาน แขกผู้มาเยือนเริ่มทยอยเดินทางกลับ เหลือไว้เพียงความทรงจำ กับคำสัญญาว่า พบกันอีกครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ในปีหน้า กับ ฮ่องอ้อประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: คิด แก้วคำชาติ เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาในพื้นที่ภาคอีสาน

 

 

 

update: 01-04-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ