ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก งานเปิดตัวโครงการ “เคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหาติดอับดับค่าฝุ่นสูงสุดในโลก โครงการนวัตกรรม ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินอย่างมีส่วนร่วมแห่งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติ


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า thaihealth


เพราะปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อเกิดผลกระทบจากพื้นที่หนึ่งแล้ว ย่อมส่งผลต่อทุกสิ่งมีชีวิตในวงกว้าง  ในช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายนของทุกปี ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในพื้นทางภาคเหนือต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตมลพิษทางอากาศจากไฟป่า ทำให้ค่าฝุ่น PM.2.5 ทะยานสูงสุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นอันดับ 1 ที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก


ที่มาของฝุ่นควันนั้นเกิดจากการเผาในที่โล่งและขาดการจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบ ทำให้ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ของป่าไม้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าและเพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงภาคประชาสังคม ในส่วนของการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเป็นระบบนั้น สสส. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า และร่วมดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและสร้างกลไกการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อการป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 19 ตำบล ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ


หนึ่งใน 19 ตำบลนั้น พื้นที่บ้านหัวเสือ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในด้านการจัดการไฟป่า และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบ ทางเทศบาลตำบลบ้านหลวงได้ใช้นวัตกรรม “ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลง” โดยสำรวจเขตที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยการใช้ GPS บอกพิกัดผ่านดาวเทียมกว่า 20,000 ไร่ รวมที่ดินกว่า 6,000 แปลง และสร้างหลักเทศบัญญัติในการจัดการไฟป่าในชุมชน เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม


เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นระบบจะชี้จุดเกิดความร้อนหรือ Hotsport ว่าเกิดจากที่ดินแปลงใด ซึ่งสาเหตุหลักในการเกิดไฟป่ามาจากคน การทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลง ทำให้มีหลักฐานดำเนินคดีเอาผิดจากผู้กระทำได้ และได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัญหาไฟป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า thaihealth


ขั้นตอนการจัดทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลง มีดังนี้


1. จัดเวทีสร้างความเข้าใจเป้าหมาย ขั้นตอนการสำรวจเก็บข้อมูลแปลงที่ดิน ขั้นตอนการจัดทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน แก่ประชาชน ผู้นำชุมชน และทีมเก็บข้อมูล และร่วมกันวางแผนการสำรวจ


2. สร้างความเข้าใจการในการใช้เครื่องมือ ได้แก่ แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2545 เพื่อวางแผนในการสำรวจข้อมูล เครื่องสำรวจค่าพิกัดจีพีเอส GPS การถ่ายภาพประกอบแปลงที่ดินและขั้นตอนการสำรวจเก็บข้อมูล


3. สร้างข้อมูลการถือครองที่ดินรายแปลงในอยู่ในรูปแบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GSI Database) ถ่ายโอนข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์


4. ปรับปรุงข้อมูลทั้งในส่วนรูปแปลงที่ดิน รายละเอียดและภาพถ่ายประกอบแปลงให้ตรงตามข้อมูลการถือครองปัจจุบัน โดยให้เจ้าของที่ดินและคณะกรรมการของชุมชนร่วมกันตรวจสอบทั้งส่วนของรูปแปลงที่ดิน


5. ทำการปรับปรุงแก้ไขและตรวจทานข้อมูล จากเอกสารที่มีการบันทึกผลการปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ รวมกับฐานข้อมูลแปลงที่ดินที่มีการปรับแก้เบื้องต้นอทำการตรวจทานและปรับปรุงครั้งสุดท้าย


6. นำข้อมูลแปลงที่ดินชุดสมบูรณ์มาทำการคัดแยกข้อมูลตามขั้นตอนการจัดทำแผนที่ประกอบ “ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน” และจัดทำตารางค่าพิกัดมุมที่ดิน และรายละเอียดการใช้ที่ดิน พร้อมทั้งออกแบบเอกสารประกอบรายละเอียดทั้งหมด จัดพิมพ์เอกสารออกมาเป็นฉบับร่าง (ขาว-ดำ) ขนาด A4  เพื่อทำการตรวจสอบครั้งสุดท้ายก่อนพิมพ์ฉบับจริง


7. จัดทำแผนที่การจัดการทรัยพยากรและการจัดการที่ดินให้มีการแสดงรูปแปลงและหมายเลขประจำแปลงอย่างชัดเจน ใช้ประกอบการตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดทางเอกสาร


8. จัดพิมพ์เอกสาร “ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน” 4 สี กระดาษอาร์ตมันความหนา 260 แกรม ขนาด 26 x 36 นิ้ว


ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า thaihealth


นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า ว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า มลพิษทางอากาศ เพราะถือว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง และได้สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า หลายโครงการเพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเสริมศักยภาพชุมชน เพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


“บทบาทของ สสส. คือ เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพกายและจิตที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สสส. ได้ให้การสนับสนุนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เราพยายามให้การสนับสนุนภาคีและเสริมความเข้มแข็งของทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ


สสส. ไม่ได้ให้การสนับสนุนเพียงงบประมาณอย่างเดียว แต่ยังสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ และดึงองค์กรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ด้วย” นายพิทยา กล่าว


ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า thaihealth


นายไพรัช ใหม่ชมพู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า การลดปัญหาฝุ่นควันได้ดีที่สุดคือต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน จึงได้ร่วมมือกับ สสส. ลงพื้นที่เปลี่ยนแปลงนโยบายการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


“ที่ผ่านมาพบว่าในพื้นที่ทำกินของประชาชนทับซ้อนกับเขตอุทยาน ประชาชนบางส่วนไม่มีสิทธิทำการใดๆบนที่ดิน จึงได้ร่วมมือกับ สสส. เดินหน้าวิจัยและนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ไปปัญหาคือ การทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลงขึ้น เพื่อแสดงขอบเขตของที่ดินและป่าชุมชน  ลดความขัดแย้งในชุมชน ที่สำคัญสามารถติดตามและประเมินผลได้ผ่านทางระบบดาวเทียมที่มีความละเอียดชัดเจน ทำให้ปีที่ผ่านมาเราพบว่าปัญหาไฟป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่พบการบุกรุกพื้นที่ป่า คนในพื้นที่ในชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้” นายไพรัช กล่าว


สสส. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสร้างองค์ความรู้และหนุนเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้อย่างเป็นระบบ  และจัดทำแผนการปฏิงานลดฝุ่น PM 2.5 โดยมีพื้นที่อำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ นำร่องเป็นพื้นที่แรกและจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


ชุมชนร่วมใจ ป้องกันไฟป่า thaihealth


 

Shares:
QR Code :
QR Code