ชุมชนต้นแบบจากพลังความสามัคคี
คนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาที่ต่อยอด ขยายไปสู่ความเข้มแข็งระดับจังหวัดและประเทศได้ในอนาคต
ด้วยความคิดที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่าย ผนึกกำลังสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ชื่อว่า "มหกรรมชุมชนพอเพียง" ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพบปะแลกเปลี่ยน และยังเป็นต้นแบบให้อีกหลายชุมชนเห็นเพื่อจะเกิดพลัง ผลักดันให้กลับไปทำในชุมชนของตัวเองบ้าง
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักรณรงค์สื่อสารสาธารณะสังคม สสส. กล่าวถึงงานนี้ว่า โครงการที่ชาวชุมชนทำขึ้นนั้น สามารถสร้างความอยู่ดีมีสุขได้จริง หลายโครงการประสบความสำเร็จ และสามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรหาช่องทางขยายออกไปให้สังคมได้รับรู้ เพราะถือเป็นประโยชน์ที่จะแบ่งปันความรู้ที่ประสบความสำเร็จให้ชุมชนอื่นได้เข้ามาเรียนรู้บ้าง
"เชื่อว่าต่อไปสิ่งที่สังคมชอบมองว่าชุมชนแออัดเป็นภาระช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อชุมชนคิดเป็นเขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด" รศ.ดร.วิลาสินี สรุป
ขณะที่ นางสุดใจ มิ่งพฤกษ์ ประธานชุมชนหนองบัว เทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า ปัญหาขยะในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์นับวันยิ่งจะรุนแรง ขึ้น เพราะไม่มีพื้นที่เผาทำลาย และในแต่ละปียังต้องเสียภาษีค่ากำจัดขยะจำนวนมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น แทนที่จะนำเงินไปใช้เรื่องอื่น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงคิดที่จะจัดการขยะด้วยตัวเอง โดยทำโครงการขยะออมบุญวันละบาท
ประธานชุมชนหนองบัว บอกอีกว่า หลักการของกลุ่มออมบุญวันละบาท คือเราจะให้แต่ละบ้านแยกขยะของตัวเอง ก่อนนำมาขายที่จุดบริการในชุมชน ส่วนขยะประเภทเศษอาหารก็จะนำไปทำปุ๋ยขาย เงินที่ได้มาก็จะนำเข้ากองทุนออมบุญ เพื่อจัดเป็นสวัสดิการให้คนในชุมชน เป็นค่าทำขวัญเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ เมื่อเจ็บป่วยเบิกเป็นค่ารักษาพยาบาล และเมื่อเสียชีวิตจะมีเงินร่วมทำบุญให้ก้อนหนึ่ง การออมแบบนี้ไม่มีการปันผล ไม่มีการให้กู้ยืม แต่ออมเพื่อเป็นหลักประกันในยามยากของชีวิต
"อันนี้เป็นการออมบุญ เดือนหนึ่งก็ 30 บาท ปกติเราเสียค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมากกว่านี้เล่นหวยไม่ได้อะไรขึ้นมา ไปทำบุญตามที่เขาเรี่ยไร บางทีก็ไม่รู้ว่าเขาทำจริง หรือไม่จริง แต่อันนี้เห็นๆ เลย แม้ว่าสมาชิกบางคนเราจะไม่รู้จักเขา แต่เมื่อเขาเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตขึ้นมา เงินออมของเราก็ได้ช่วยทำบุญกับเขาด้วยแน่นอน ทำบุญแค่วันละบาทเดียว จิตใจเราก็สบาย" นางสุดใจ เล่า
ด้าน นางจิราภรณ์ เขียวพิมพา เลขานุการบ้านมั่นคง จังหวัดนนทบุรี บอกว่า ชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ มักเน้นหิ้วแกงถุงอาหารสำเร็จรูปมารับประทานเกือบทุกมื้อ โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอาหารเหล่านั้นสะอาดเพียงใด จึงมีความคิดกันในชุมชนว่า พื้นที่ว่างในชุมชนที่มีอยู่น่าจะปลูกผักได้บ้าง จึงช่วยกันปลูกผักที่โตเร็วและเก็บกินได้ โดยเริ่มจากการปลูกผักเสี้ยน และผักบุ้ง ซึ่งผักที่ปลูกได้ก็จะนำมาแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายกันภายในชุมชน กิจกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้ปัญหาเรื่องเหล้าบุหรี่ และปัญหาการพนันในชุมชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะชาวบ้านต่างนำเวลาว่างไปใช้ในการปลูกผักแทน
"เมื่อก่อนเราต่างคนต่างอยู่ ถึงอยู่บ้านใกล้กัน แต่ก็ไม่เคยรู้จักกัน ก็เหงาเครียด ไม่สบาย แต่พอเรามารวมกลุ่มกันก็มีเพื่อนที่คุยกันเข้าใจ ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทั้งด้านการทำงานและความคิด" นางจิราภรณ์ บอกถึงข้อดีของการรวมกลุ่ม
ความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่ชาวชุมชนได้รับในวันนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความความเข้มแข็งและความสามัคคีของคนในชุมชน สิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งความเป็นชุมชนคนพอเพียง และยังสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชุมชนอื่นได้เรียนรู้ต่อไปได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก