ชุมชนจัดการป่าที่สุคิริน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
"ไม่หรอก ไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่คิด" ประโยคทำนองนี้ ไม่ต่างจากคำปลอบใจทุกครั้งเวลาที่ใครสักคนได้ย่างกรายเข้าไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้ชื่อว่า เป็นทั้งพื้นที่สีแดง และเต็มไปด้วยเหตุความ ไม่สงบตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง วิถีชีวิตของผู้คนปลายด้ามขวานต่างพากันดำเนินไปตามครรลอง อย่างที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ชุมชนเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ในโอบล้อมของผืนป่าฮาลาบาลาป่าฝนที่ชุ่มฉ่ำที่สุดอีกแห่งของอาเซียน ที่อาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดไปว่า นี่เรากำลังอยู่บนยอดดอยที่ไหนสักแห่งของภาคเหนือ
ยิ่งเมื่อได้ลองไปสัมผัสเองแล้วล่ะก็ คำว่า "อันตราย" หรือ "ไม่ปลอดภัย" อาจดูเป็นเพียงแค่มายาคติที่ "คนนอก" ต่างสร้างขึ้นมาสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เสียด้วยซ้ำ
ดรอแม บินซา ผู้ใหญ่ และคณะกรรมการหมู่บ้าน ยืนยันว่า สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้
เรื่องนี้คงไม่ต่างจากข่าวความรุนแรงที่มักถูกเผยแพร่จนกลายเป็นเกราะกำบังผู้คนไม่ให้ย่างกรายเข้ามา ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น ชาวบ้านต่างช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านมีมติร่วมกันในการดูแลพื้นที่ป่าไม้รอบๆ หมู่บ้าน
"พวกเราเริ่มต้นจากการดูแลพื้นที่ป่ารอบชุมชน 96 ไร่ในปี พ.ศ. 2551" เขาบอก
หลังจากชาวบ้านได้ช่วยกันดูแลป่าชุมชน กำหนดกติการ่วมกันว่า ผู้ที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าไม้จะต้องดูแลรักษา ห้ามโค่นต้นไม้ ห้ามบุกรุกทำลาย การเข้าไปเก็บของป่าทั้งสะตอ หน่อ ไม้ลูกเหนียงออกมาขายจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการป่าชุมชนที่ตั้งขึ้น และจะต้องไม่มีการจับจองเป็นเจ้าของ โดยทุกคนต้องมี อิสระ และเข้าถึงของป่ากันอย่างเท่าเทียม
ผ่านไปไม่กี่ปี พื้นที่ป่าไม้รอบหมู่บ้านเจริญงอกงาม ขณะที่ชาวบ้านเองก็มีรายได้จากการเก็บของป่าไปขายเป็นอาชีพเสริมจากการกรีดยาง และทำ เกษตรกรรมอย่างอื่นๆ
"ชาวบ้านเห็นคุณค่าป่าไม้มากเพราะสร้างรายได้สูงในแต่ละปีมีรายได้มากกว่า 6-7 แสนบาท ในการเก็บของป่าไปขาย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ รายได้จากของป่าเข้ามาช่วยจุนเจือครอบครัวได้"
ผู้ใหญ่ดรอแมบอกว่า การประชุมชาวบ้าน หรือที่เรียกกันว่า ประชาคม ชาวบ้านที่ได้เรียนรู้จากสำนักสุขภาวะชุมชน 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทุกครั้งจะร่วมหารือกันตั้งแต่การดูแลพื้นที่ป่า และปัญหาอื่นๆ ของชุมชน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจวิถีของหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขาว่าจะต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่น
"ทุกคนเข้าใจว่าต้องดูแลป่าไม้ จนทำให้ในปี 2557 ชาวบ้านเห็นว่าต้องเพิ่มการดูแลพื้นที่ป่าไม้รอบๆ ทั้งหมดประมาณ 4,700 ไร่ เพื่อให้เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป"
ปัจจุบัน พื้นที่ป่าชุมชนที่ได้รับ การจดทะเบียนของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จึงมีมากถึง 4,700 ไร่ที่ ชาวบ้านร่วมกันดูแล และจัดเป็นพื้นที่ในการศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอด ปลูกฝั่งสำนึกรักป่าให้กับเยาวชนคน รุ่นใหม่
นอกจากนั้น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ คือหัวใจสำคัญอีกเรื่องของความยั่งยืน หากชาวบ้านเห็นค่ากับสิ่งที่ตัวเองรักษา ซึ่งนำไปสู่การสร้าง รายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทางหมู่บ้านได้ประสานไปยัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยถึงแนวทางในการดำเนินการ ปรับปรุงเรียนรู้จนกลาย เป็นรูปแบบการจัดการของชุมชนเอง ในที่สุด
"กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้าน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์-มาลายา" ผู้ใหญ่ดรอแม บอก
ในอดีตด้วยความยากจนทำให้ชาวบ้าน ในพื้นที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวมิสต์ พื้นที่ดั้งเดิมของหมู่บ้านแห่งนี้จึงเป็นหน่วยรบ หรือที่ตั้งของกรม 10 ของ พรรคคอมมิวนิสต์
เมื่อการเจรจาสันติภาพ3 ฝ่ายที่ เกิดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ระหว่าง รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลซีย และพรรคคอมมิวนิสต์ มาลายา ที่บรรลุข้อตกลง จนทำให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่บริเวณ ตั้งเป็นหมู่บ้านสันติภาพที่ 4 หรือ บ้านรัตนกิตติ 4
ต่อมา ปี2536 ด้วยพระมหากรุณา- ธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า- จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรับหมู่บ้านแห่งนี้เอาไว้ภายใต้ การดูแลของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์อย่างเป็นทางการ
ประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ เพื่อสันติภาพของหมู่บ้าน จึงมีเรื่องเล่า ที่สนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยวที่ มาเยือน
ตัวผู้ใหญ่เองก็ยืนยันว่า ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านคือ ความภูมิใจของชุมชน เพราะฉะนั้นจึงตั้งใจจะถ่ายทอดให้กับลูกหลานได้รู้ถึงที่มาของหมู่บ้าน และการต่อสู้ของรุ่นพ่อรุ่นแม่ รวมทั้งสร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านขึ้นมาเพื่อเก็บสิ่งของ และบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชนให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้
เรื่องราวของชุมชนคงไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเล็กในหุบเขาแห่งนี้อย่างเดียว แต่ยังคงเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทยในช่วงของการเจรจราสันติภาพที่สร้างความสงบในพื้นที่ได้อย่างยาวนาน อีกด้วย