ชุมชนคนสู้เหล้า เสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5

เครือข่ายงดเหล้าเดินหน้ายกระดับชุมชน เปิดศูนย์เรียนรู้ทั้ง 10 ภาค ใช้หลัก 9 สร้าง เกิดเป็นชุมชนคนสู้เหล้างดเหล้าครบพรรษา 900 ชุมชน พร้อมหนุนเสริมพลังใจให้ประชาชนงดเหล้าครบพรรษาเพิ่มมากขึ้น


ชุมชนคนสู้เหล้า เสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 thaihealth


(บ่าย 28 ก.ค. 58) ที่ วัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จัดแถลงนโยบาย และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม  เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา ตามแนวคิด “ชุมชนคนสู้เหล้า ส่งเสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5” โดยพระพรหมเสนาบดี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบป้ายแก่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ 10 ภาค และกิจกรรมปฏิญาณตนลด ละ เลิกอบายมุข เสริมพลังใจคนหัวใจหิน งดเหล้าครบพรรษา เพื่อมุ่งสู่หมู่บ้านรักษาศีล 5 อย่างยั่งยืน


พระพรหมเสนาบดี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวถึงนโยบายความร่วมมือว่า “การรักษาศีลต้องเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร  ศีลข้อ 5  คือการละเว้นจากการดื่มสุราหรือของมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การดื่มสุรา ยาเสพติด ล้วนเป็นของมึนเมา ทำให้บั่นทอนกำลัง สติ ปัญญา ขาดสติสัมปชัญญะ ความยั้งคิด ถ้าหากผู้คนในสังคมงดเว้นจากการดื่มสุรา อุบัติเหตุ และการทะเลาะวิวาท ต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง  ตามที่สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ได้ทำการรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา แม้เพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือน ในโครงการ “ชุมชนคนสู้เหล้างดเหล้าครบพรรษา ส่งเสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5” แต่ในหลักธรรมคำสอนของพระ พุทธศาสนานั้น เห็นควรสนับสนุนให้งดเหล้าตลอดไป และที่ผ่านมาไม่ว่างานศพปลอดเหล้า งานบุญปลอดเหล้า หรือเทศกาลงานต่างๆ ทางเครือข่ายงดเหล้า และ สสส. ก็ทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง  เมื่อแนวทางนโยบายการทำงานสอดคล้องกัน จึงเห็นควรที่จะร่วมทำงานสนับสนุน ส่งเสริม ให้หมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นหมู่บ้านงดเหล้าครบพรรษาด้วย”


นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1สสส. กล่าวถึง การสนับสนับสนุน “ชุมชนคนสู้เหล้า ส่งเสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 ว่า กิจกรรมรณรงค์และพิธีเสริมพลังใจคนหัวใจหินต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ ที่ สสส. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า  และภาคีเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศทำให้เห็นว่า การที่หน่วยงานต่างๆได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีนโยบายจากผู้บริหาร ให้จัดกิจกรรมรณรงค์ งดเหล้าเข้าพรรษาในทุกๆจังหวัด เป็นหลักประกันความยั่งยืนของการรณรงค์ เพราะนอกจากจะทำใหผู้ลด ละ เลิก และครอบครัวได้ประโยชน์แล้ว หน่วยงานก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในปีนี้ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ชุมชนพร้อมสู้ ชื่นชมคนเลิกเหล้า” เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ครอบครัว คนรอบข้าง และทุกคน เป็นตัวช่วยผู้ที่ดื่มอยู่สามารถงดเหล้าเข้าพรรษาได้


 “จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชุมชนตัวอย่างของเครือข่าย ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า การที่ชุมชน/คนรอบข้างทำกิจกรรมเชิญชวนผู้มางดเหล้ามีประโยชน์มากกับผู้ที่ตั้งใจงดเหล้า ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น ทั้งด้านการลดการบริโภค ประหยัดค่าใช้จ่าย สุขภาพ และการทำงาน ส่วนแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรณรงค์ให้ดียิ่งขึ้น ต้องทำให้ผู้ดื่มสัญญาที่จะงดเหล้า  รวมทั้งต้องมีมาตรการหรือกิจกรรมที่เหมาะกับบริบทชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 1 เดือนแรก ชุมชนคนสู้เหล้า เสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 thaihealthเนื่องจากผลวิจัยพบว่า ร้อยละ 65 ของกลุ่มผู้ดื่มที่งดไม่ครบจะกลับมาดื่มอีกภายใน 1 เดือน ทั้งนี้การสำรวจผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา พบว่า มีประชาชนร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกในการรณรงค์ มีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาทั้งงดตลอดและงดบางช่วง ร้อยละ 40.4  เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 83.4 ในปี 2557 โดยมีผู้เลิก-งดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษา ร้อยละ 39.4 งดดื่มเป็นบางช่วงร้อยละ 23.2 ไม่งดดื่มแต่ลดปริมาณการดื่มร้อยละ 20.8 และเมื่อเทียบกับปี 2556 พบว่า มีผู้งดดื่ม ตลอดพรรษาเพิ่มขึ้น สามารถงดดื่มได้ตลอดช่วงเข้าพรรษาอยู่ที่ร้อยละ 36.2 สอดคล้องกับแนวทางรณรงค์ที่เน้นการเชิญชวนให้งดเหล้าได้จน “ครบพรรษา” เพื่อเพิ่มโอกาสให้งดดื่มได้ต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนชาวไทยใช้โอกาสช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน “งดเหล้าให้ครบพรรษา” และมอบความสุขให้ครอบครัวในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้” นายแพทย์คำนวณ กล่าว


เภสัชกรสงกรานต์ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึง การทำงานจากพื้นที่ต้นแบบ…สู่ศูนย์เรียนรู้ “ชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าครบพรรษา ส่งเสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5” ว่า วัตถุประสงค์หลักของการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา คือ เชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ดื่ม ให้มางดเหล้าจนครบพรรษา 3 เดือน หากเป็นไปได้ขอเชิญชวนให้เลิกต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โดยจะใช้ฐานชุมชนเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มและการดำเนินชีวิต ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มาจะเน้นการสร้างพื้นที่รณรงค์ต้นแบบ สำหรับในปีนี้เน้นการสร้างพื้นที่ต้นแบบรูปธรรมให้เป็นศูนย์เรียนรู้


ด้าน นายสมมาด สีทา ตัวแทนชุมชนคนสู้เหล้า จาก หมู่บ้านชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เล่าประสบการณ์การงดเหล้าของตนเองว่า “ทุกวันหลังเสร็จงานในไร่แล้วก็จะตั้งวงเหล้ากับเพื่อนๆ และในช่วงที่หมู่บ้านจัดรณรงค์เรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา จะรู้สึกเหมือนโดนบังคับเพราะเคยงดแล้วแต่ก็หลวมตัวกลับไปดื่มทุกที แต่เพราะเป็นคณะทำงานของหมู่บ้านที่ทำเรื่องหมู่บ้านศีล 5 และเป็นแกนนำในการรวมชาวบ้านมาร่วมกิจกรรม จึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ผมเลยตั้งใจลองงดเหล้าอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วจนสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ยังไม่ดื่มเหล้าอีกเลย และรู้สึกว่ามีคนจริงใจและให้กำลังใจเรา ทั้งคนในครอบครัว คนรอบข้าง เคยลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่ตอนอายุ18 ปี ตอนนี้อายุ 48 แล้ว ตกประมาณเดือนละ 20 ขวด ประมาณ 7 แสนกว่าบาท ที่จ่ายไปกับค่าเหล้า ถ้าไม่ดื่มเหล้าแล้วกลับมาทบทวนดูเราจะเห็นคุณค่าของตัวเราเองว่าจะไปทำประโยชน์ต่อไปได้อีกมาก และเชื่อว่าชีวิตตัวเราเองและครอบครัวจะมีความสุขขึ้นกว่าเดิมแน่นอน”


“ชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าครบพรรษา” เดิมเริ่มจาก 10 พื้นที่ 10 ภาค เพื่อขยายผลการรณรงค์ชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าครบพรรษา ส่งเสริมนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 ให้ได้ 900 หมู่บ้าน และในพรรษานี้จะมีการส่งเสริมการทำงานโดยใช้หลัก “สร้าง” 9 ข้อ เพื่อชุมชนสู้เหล้า ได้แก่ 1. สร้างการมีคุณค่าให้แก่ผู้เลิกดื่ม   2. สร้างกระแสในชุมชน รณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วม 3. สร้างเงินออมและความอบอุ่นให้ครอบครัว 4. สร้างบุญร่วมกัน เช่น วันพระจัดธรรมะเสวนาคนเลิกเหล้า  5. สร้างรอยยิ้มให้ชุมชน โดยกิจกรรมสันทนาการสานสัมพันธ์สามวัย (เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ)  6. สร้างกำลังใจต่อเนื่องโดยนักรณรงค์ทำการติดตามเยี่ยมบ้านให้กำลังใจ  7. สร้างค่านิยมใหม่ให้เด็ก โดยโรงเรียน หรือนักรณรงค์ มีกิจกรรม “พ่อแม่จ๋า ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” 8. สร้างเสริมรายได้และให้มีงานทำในกลุ่มคนเลิกเหล้า  9. สร้างประเพณีที่ดีให้ลูกหลาน (งานประเพณี งานเลี้ยงปลอดเหล้า)


 


 


ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข


 

Shares:
QR Code :
QR Code