ชี้เมาแล้วขับจับเจาะเลือดทุกราย

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจาก สสส.


ชี้เมาแล้วขับจับเจาะเลือดทุกราย thaihealth


"เมาแล้วขับ" เตรียมหนาว หากเกิดอุบัติ เหตุมีเจ็บ-ตาย ช่วงปีใหม่ ถูกจับตรวจเลือดทุกราย


สสส.ภาคีเครือข่าย เผยได้งบ 60 ล้านใช้ยาว 1 ปี ชี้ใช้เป็นหลักฐานสำคัญเอาผิด ส่งศาลรับฟ้องแน่ พร้อมบันทึกประวัติเมาขับลงใบขับขี่ดิจิทัลหลังปีใหม่ หากทำผิดซ้ำ เจอค่าปรับเพิ่มสูงขึ้นจนถูกยึดใบขับขี่ เผยที่ผ่านมาจับเป่า 100 คน เจอเมาเกินครึ่ง แสดงให้เห็นมีคนเมาขับรถเกลื่อนถนน ไม่กลัวกฎหมาย ด้าน โฆษก ตร. เผย ปีใหม่  27 ธ.ค.-3 ม.ค. ห้ามรถ 10 ล้อขึ้นไปใช้ถนนบางสาย พร้อมเข้มเอาจริง 10 ข้อหาหลัก ทั้งเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ขับย้อนศร ไม่สวมหมวกกันน็อก ฯลฯ ย้ำพวกเมาแล้วขับโดนยึดรถเหมือนเดิม


กำลังเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เทศกาลแห่งการเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวของคนไทย แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาแต่ละปี มีสถิติอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต-ได้รับบาดเจ็บ เกิดขึ้นสูงมากติดอันดับโลก เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามรณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ มาอย่างต่อเนื่อง


เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการ "โลว สปีด" (Low Speed) มีสิทธิ์รอดกลับบ้านปลอดภัย ปีใหม่ 2562" ว่า จากข้อมูลศูนย์ความปลอดภัยทางถนนช่วง 7 วันอันตราย 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ 2559-2561 มีผู้เสียชีวิตรวม 1,281 ราย บาดเจ็บ 11,578 คน เกิดเหตุ 11,119 ครั้ง สาเหตุจากขับรถเร็วและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีงานวิจัยระบุว่า ถ้าขับรถเร็ว 60 กม.ต่อชม. ถ้าเกิดอุบัติ เหตุเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น และหากขับรถ 120 กม.ต่อชม. จะเทียบเท่ากับการตกตึก 19 ชั้น


ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ. สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมา อุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณทางตรง ร้อยละ 64.91 รถเสียหลักทางโค้งร้อยละ 21.30 และทางแยกร้อยละ 11.03 สาเหตุของอุบัติเหตุ คือ ขับรถเร็วร้อยละ 43.36 สอดคล้องกับข้อมูลของกรมทางหลวง ที่ระบุว่า เกิดอุบัติเหตุบริเวณทางโค้ง 2,004 ครั้ง ทางแยก 1,083 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2,285 ราย บาดเจ็บ 12,995 ราย ข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดเสี่ยงจาก RTI (Road Traffic Injury) ทั่วประเทศพบว่า จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งคือ ทางแยก-ทางร่วม เพราะขาดป้ายเตือน ลดความเร็ว โดยเฉพาะคนต่างที่ไม่ชินเส้นทาง เช่นเดียวกับทางโค้ง จุดกลับรถ ขนาดถนนที่ขยายจาก 2 เลน เป็น 4 เลน คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุนำ จยย. มาขี่ช่วงพลบค่ำ กะระยะไม่เป็นจึงเกิดอุบัติเหตุ


ชี้เมาแล้วขับจับเจาะเลือดทุกราย thaihealth


นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า ปีนี้จะเพิ่มความเข้มในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หากเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้งบประมาณจากกองทุนเลขสวย จากศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) มา 60 ล้านบาท โดยจะเริ่มต้นใช้ในระยะ 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ปีนี้ โดยการตรวจอยู่ในดุลพินิจของตำรวจ แต่ถ้าพบว่า ละเลยการใช้ดุลพินิจ ญาติผู้เสียหายสามารถร้องขอให้ตรวจคู่กรณีได้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดจะมีผลต่อการรับพิจารณาคดีของศาลทันที เช่นเดียวกับคลิปหน้ารถ ทั้งสองนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทำให้ผู้เมาแล้วขับถูกดำเนินคดี นอกจากโทษปรับและจำคุกแล้ว ยังเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ บันทึกประวัติไว้ในใบขับขี่ระบบดิจิทัลที่จะประกาศใช้หลังปีใหม่  เมื่อทำผิดครั้งที่ 2-3 ค่าปรับจะสูงตามไปด้วย จนถูกถอนใบอนุญาตขับขี่ ทั้งนี้จากสถิติการตรวจเมาแล้วขับใน 100 คน พบผู้มีแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม เกินกว่า 50 คน แสดงว่า คนยังไม่ เกรงกลัวกฎหมาย


ขณะที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในถนนบางสาย ช่วงวันที่ 27 ธ.ค. 61-3 ม.ค.62 ในถนนเส้นทางสำคัญ เช่น ถนนมิตรภาพทับกวาง-คลองไผ่ รวม 78 กม. ช่วงกบินทร์ บุรี-นาดี รวม 30 กม. และช่วงอรัญประเทศนางรอง รวม 9 กม. นอกจากนี้จะเข้มงวดจริงจังใน 10 ข้อหาหลัก ได้แก่ ขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, ขับขี่รถย้อนศร, ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร, ไม่คาดเข็ม ขัดนิรภัย, ไม่มีใบขับขี่, แซงในที่คับขัน, ขับรถเมาสุรา, ไม่สวมหมวกนิรภัย, ขับขี่โดยรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ส่วนมาตรการยึดรถนั้น ผู้ที่เมาแล้วขับจะถูกยึดรถ รวมทั้งจะตรวจสอบรถชนิด ต่าง ๆ ในช่วงระดมกวาดล้างอาชญากรรม หากพบว่า มีการกระทำความผิดกฎหมายก็จะยึดรถเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code