ชีวิตในกะลาสร้างคุณค่าและอาชีพให้คนพิการไทย
ถนนสายคดเคี้ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเส้นทางหลักที่ ภมร แก้วกาบิน หนุ่มใหญ่อายุ 39 ปี ประกอบอาชีพขับรถบรรทุกสิบล้อใช้เป็นเส้นทางขนมะพร้าวจากเมืองนครศรีธรรมราชไปส่งยังโรงงานปลายทางกรุงเทพมหานคร โดยทุกครั้งในการเดินทางภรรยาและบุตรชายของ ภมร จะติดสอยห้อยตามไปช่วยทุกครั้ง
ภาพ พ่อแม่ลูกของครอบครัวแก้วกาบิน ขับรถบรรทุกสิบล้อจากใต้ขึ้นกรุงเทพเพื่อส่งมะพร้าวเป็นภาพชินตาของผู้คนในละแวกนั้น ดูเหมือนการได้อยู่ร่วมกันในทุกโมงยามของชีวิตจะเป็นความสุขของครอบครัวแก้วกาบินที่แสนจะหาได้ง่ายดายและไม่ต้องใช้เงินทองจำนวนมากมายในการซื้อหา
หลายคนคงมีบทสอบในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่การทดสอบชีวิตของครอบครัวแก้วกาบินดูเหมือนจะหนักหนาและสาหัสเอาการ เมื่อในคืนเดือนมืดคืนหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รถของภมรที่บรรทุกทั้งภรรยาและลูกพร้อมทั้งมะพร้าวเสียหลักตกลงเหวของถนนสายหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั่วครู่เดียวของเหตุการณ์ระทึกขวัญภมรรู้สึกเหมือนโลกทั้งโลกทั้งใบดับมืด
“ตอนนั้นผมไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดอะไรขึ้น จำได้แค่ว่าถนนลื่นมาก แล้วตรงที่ขับผ่านมันก็เป็นเหวลึก ผมพยายามหักพวงมาลัยหลบเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่พ้นรถไถลลงไปในเหวที่ลึกกว่า 100 เมตร ความรู้สึกผมตอนนั้นต้องเอาเมียและลูกรอดก่อนให้ได้ พยายามช่วยเขาทั้งคู่สุดชีวิตเลยนะ กอดเขาไว้ทั้งคู่เลย มารู้ตัวอีกทีก็อยู่โรงพยาบาลแล้ว” ภมรเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วให้เราฟัง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วทำให้ภมรสูญเสียขาทั้งสองข้าง ส่วนภรรยาก็ประสบชะตากรรมเดียวกันคือขาทั้งสองข้างก็ไม่สามารถใช้งานได้ ลูกชายของเขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยเนื้อที่น่องหายไปเกือบครึ่งเช่นกัน ชะตากรรมของครอบครัวที่เกิดขึ้นทำให้ภมรต้องลุกขึ้นสู้เพื่อเป็นหลักให้ครอบครัวให้ได้
“ตอนที่รู้ว่าตัวเองต้องพิการ เสียใจมาก มันทำอะไรไม่ถูกเลย ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่หันไปเห็นเมียและลูกก็ต้องสู้ เพราะถ้าเราไปแล้วใครจะอยู่ดูแลเขา เมียเราก็สู้มากเป็นกำลังให้เรามาตลอดทั้งๆ ที่ตัวเองก็เดินไม่ได้เหมือนกัน ผมก็สู้หางานทำทุกอย่างที่ตัวเองจะทำได้มาทำ ผมโชคดีที่เจอกับคนและโครงการที่ดี ๆ เข้ามาสนับสนุนในเรื่องอาชีพให้ผมและครอบครัว” ภมรบอกเล่าถึงที่มาที่ไปในการได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพและเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (smedi)
ภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ หรือพี่ตุ้ม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (smedi) กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการเพิ่มเติมว่า เป้าหมายหลักที่สสพ.และสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชนทำร่วมกัน ก็เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคนพิการที่เข้าร่วมโครงการของเรานั้นจะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องอาชีพที่เหมาะสมกับเขาและยังจะได้รับการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การจัดการและการตลาดที่คนพิการสามารถเป็นผู้ประกอบการและขยายตลาด เพื่อสร้างงานให้คนพิการด้วยกันได้
“ครอบครัวของภมรเข้ามาร่วมโครงการกับพวกเราได้ระยะหนึ่งแล้วและผลิตภัณฑ์ที่ครอบครัวของภมรช่วยกันทำจากวัสดุในท้องถิ่นด้วยการแปรรูปกะลามะพร้าวเป็นโมบายและพวงกุญแจก็เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือความต้องการที่จะให้คนพิการมีอาชีพในการเลี้ยงตนเองและพึ่งพิงตนเองได้” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (smedi) กล่าว
ด้านนางมนิษา อนันตผล ผู้รับผิดชอบงานด้านอาชีพของคนพิการของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราตั้งเป้าหมาย และให้ความสำคัญมากที่สุดในการดำเนินโครงการนี้คือ คนพิการสามารถพึ่งพิงตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสสพ. และสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (smedi) ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ นอกจากการฝึกอาชีพให้เหมาะสมสำหรับคนพิการแล้ว เรายังเข้าไปดูแลในส่วนของครอบครัวคนพิการด้วย เช่นโครงการนี้เราได้ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดอบรมอาชีพให้กับผู้ปกครองของเด็กพิการที่ศูนย์ ระหว่างที่รอรับลูกกลับบ้าน โดยได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็มีหลายครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการกับเรา และเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่มีศักยภาพ มีความสามารถ รวมถึงครอบครัวแก้วกาบินด้วย
“ทั้งนี้สิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดก็คือ การเปิดโอกาสให้ครอบครัวของคนพิการ และคนพิการเองได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยกระดับการประกอบอาชีพได้ด้วยตนเองในอนาคต“ ผู้รับผิดชอบงานด้านอาชีพของคนพิการของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าว
อาชีพที่ครอบแก้วกาบินได้รับการพัฒนาคือ การผลิตโมบายและพวงกุญแจจากกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีเป็นจำนวนมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช สินค้าของครอบครัวแก้วกาบินมีความโดดเด่นเนื่องจากแฝงกลิ่นอายวัฒนธรรมของภาคใต้เข้าไปด้วยเช่นพวงกุญแจจากกะลามะพร้าวภมรก็ฉลุให้เป็นลายนกนางนวลที่อยู่คู่กับทะเลในจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือแม้แต่ตัวละครในหนังตะลุงอย่างเจ้าเท่งก็ถูกจับมาใส่ในพวงกุญแจกะลามะพร้าวของภมรอย่างสวยงาม
นอกจากรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการแล้ว เรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ก็เป็นเรื่องที่โครงการพัฒนาอาชีพและเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจสำหรับคนพิการให้ความสำคัญด้วย โดยเฉพาะการประกอบอาชีพของภมรที่ต้องใช้วัตถุดิบจากกะลามะพร้าว จะทำให้เกิดฝุ่นคลุ้งจำนวนมากเมื่อต้องขัดกะลามะพร้าวให้เป็นวัตถุดิบเพื่อที่จะพร้อมในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงได้ช่วยคิดค้นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนพิการประกอบอาชีพภายใต้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พงศ์เทพ วีระพงศ์ อาจารย์ประจำภาคคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เล่าถึงการเข้ามาช่วยพัฒนาและคิดค้นเครื่องมือให้คนพิการมีความปลอดภัยในการประกอบอาชีพว่า เราได้รับการติดต่อมาจาก โครงการพัฒนาอาชีพและเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจสำหรับคนพิการ ว่าต้องการให้ช่วยคิดค้นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนพิการในการประกอบอาชีพซึ่ง ผมก็รับปากทันทีเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับคนพิการได้ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มมีการผลิตเครื่องมือผมได้นำนักศึกษาลงเก็บข้อมูลจริง เข้าไปสัมผัสการทำงานของคนพิการจริงๆ เพื่อที่เด็กๆ จะได้รู้ถึงความต้องการเกี่ยวกับอาชีพของคนพิการ
“เด็กนักเรียนก็ได้ช่วยกันคิดเครื่องไซโคลนดักฝุ่นจากกะลามะพร้าว และเลื่อยฉลุชิ้นงานสำหรับการทำผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับคนพิการและส่งเสริมสุขภาพให้กับคนพิการ โดยเครื่องมือที่เราได้ผลิตขึ้นมานั้นได้จัดส่งให้กับคนพิการได้ใช้จริงแล้ว”อาจารย์ประจำภาคอาจารย์ประจำภาคคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าว
สำหรับเครื่องไซโคลนดักฝุ่นจากกะลามะพร้าวนั้นสร้างขึ้นด้วยงบประมาณไม่มาก และคนพิการก็ไม่ต้องซื้อหา โดยเศษฝุ่นกะลาที่ได้จากเครื่องไซโคลนดักฝุ่นจากกะลามะพร้าวยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วเลื่อยฉลุที่นักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ช่วยกันคิดและปรับปรุงด้ามจับให้มีขนาดเล็กลงเพื่อง่ายต่อการจับและใช้ในการผลิตงานสำหรับคนพิการยังเป็นอุปกรณ์ที่คนพิการได้ใช้ประโยชน์เป็นอย่างมากด้วย
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างและโครงการเล็กๆ แต่ส่งผลอย่างยิ่งใหญ่สำหรับการดำรงชีวิตของคนพิการ การส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและพึ่งพิงตนเองได้ จะสร้างความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและชีวิตให้เกิดขึ้นไม่ใช่ในฐานะของคนพิการ แต่เป็นความมั่นคงในฐานะที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง!!!
ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ