ชีวิตคนเมืองก็ดีได้ ถอดบทเรียน 5 ท้องถิ่นน่าอยู่ ดึงพลังชุมชนร่วมแก้ปัญหาสุขภาวะ

ข้อมูลจาก : เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ”

ภาพโดย: ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                  ชีวิตคนเมืองดีจริงไหม?

                  หากต้องเจอกับปัญหารุมเร้าสารพัด ทั้งสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ แม้กระทั่งยาเสพติด แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาลงไปได้ หากชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่จนถึงฐานราก นำมาสู่การสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และผู้มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี

                  ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทำอย่างไร เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ภายในเวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567 วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีงานเสวนา “อัตลักษณ์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” ที่นำชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง 5 พื้นที่มาร่วมถอดบทเรียนถึงการใช้พลังชุมชนในการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ของพื้นที่อื่นได้

                  เริ่มจาก “เทศบาลนครเชียงราย”

                  ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย เล่าว่า ทุกเมืองมีปัญหาคล้ายกัน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย ถนนหนทาง ไปถึงเรื่องการศึกษา การจะพัฒนาเมืองให้ดีนั้น ต้องสำรวจปัญหาของตัวเองก่อน สิ่งสำคัญคือการสร้างภาคีเครือข่าย สร้างคนมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เรียกว่า “หุ้นส่วนการพัฒนา” โดยเฉพาะภาคประชาชน ที่จะช่วยสร้างมุมมองและนำไปสู่การจัดทำแผน และสามารถบูรณาการหน่วยงานต่างๆ และลดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณด้วย

                  ส่วนการเดินหน้าสร้างชุมชนท้องถิ่นยั่งยืนและเป็นเมืองสุขภาวะของเทศบาลนครเชียงราย มองว่าเมืองจะยั่งยืนต้องมี “การศึกษา” เพื่อให้ลูกหลานเรียนรู้พัฒนาและเติบใหญ่เป็นคนรุ่นที่เมื่อโตไป มีงาน มีรายได้ที่ดี เขาก็ต้องมาสร้างสังคมครอบครัวและสังคมเมืองที่ดีต่อไป นอกรั้วโรงเรียนก็มีปราชญ์ชาวบ้านร่วมให้ความรู้ รวมถึงเราดูแลคนตลอดทุกช่วงวัย มองเป็นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ สูงอายุ เราเปลี่ยนปัญหาผู้สูงอายุมาเป็นโอกาส

                  ถัดมาคือ “อาหารปลอดภัย” เพราะจะช่วยให้เราปลอดภัยแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายการรักษา เรามีภาคีเครือข่ายรอบเทศบาล โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาช่วยเสริมสร้างในเรื่องนี้ ขณะที่เรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เราทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงและปรับสิ่งแวดล้อมให้ดี อย่างปัญหาคนบุกรุกที่สาธารณะริมแม่น้ำ เราก็ทำสวนสาธารณะริมแม่น้ำที่ยาวมากๆ และดึงเรื่องของกีฬาเข้ามาร่วม

                  “เรากำหนดเป้าหมายนครแห่งความสุข 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เรามีพื้นที่ 60 ตร.กม. รวม 65 ชุมชน แต่ละพื้นที่มีบริบทปัญหาทั้งเหมือนและต่างกัน ก็ต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อย่างการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ก็ให้ออกแบบหลักสูตรกันเอง เป็นวิทยากรกันเอง ผู้เรียนแลกเปลี่ยนกันเอง เปลี่ยนจากปัญหาผู้สูงอายุ เป็นผู้สูงวัยสร้างเมือง” ดร.วันชัยกล่าว

                  “เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด”

                  ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ในพื้นที่เรามี 20 ชุมชน ซึ่งเราได้รับการชักชวนจากทาง สสส.ให้ร่วมทำสุขภาวะชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ แต่ที่ผ่านมาเรามองว่าเรื่องงานชุมชนเราก็มีการทำงานอยู่แล้ว ไม่ได้แต่กต่างกัน แต่เมื่อลองไปทำงานสัมผัสร่วมกันจริงๆ พบว่า ที่ผ่านมาการทำงานของเราหลายเรื่องไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะเราทำอยู่จากข้างบนลงมาข้างล่าง แต่ สสส.เน้นทำจากข้างล่างขึ้นข้างบน คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมตลอดเวลา

                  “อย่างที่ผ่านมาจะมีเด็กมาเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม ก็เคยมีการห้ามใช้สถานที่ต่างๆ จนเราทำงานแบบให้ชุมชนให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม ก็มีการแบ่งพื้นที่ พวกเขาเอาอุปกรณ์มามอบให้เรา เราก็สมทบเข้าไป ทำให้มีสนามกีฬาเอกซ์ตรีมของเมืองร้อยเอ็ด” ดร.นุชากร กล่าว

                  ดร.นุชากร เล่าอีกว่า กรณีเด็กออกนอกระบบการศึกษาของประเทศไทยมีถึง 1 ล้านคน เราใช้พลังชุมชนพลังเครือข่ายในการดูแลเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา มีการไปค้นหาเด็กกลุ่มนี้ ไปค้นถึงสถานพินิจฯ และนำพาพวกเขาไปสู่การเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียน เช่น การฝึกอาชีพ เราได้เด็กปีละ 20-30 คน ทุกวันนี้เรามีเด็กกลุ่มนี้ที่สามารถเปิดร้านเสริมสวยในชุมชนได้ 2 ร้าน หลายคนเป็นเจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ เป็นการคิดใหม่ว่าทำอย่างไรให้เด็ก เยาวชน และสังคมอยู่ร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

                  “ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์”

                  พื้นที่ต่อไปมาต่อกันที่เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยที่ดูเจริญอย่างมาก แต่ภายในชุมชนท้องถิ่นเองก็มีปัญหาไม่น้อย ที่ต้องอาศัยพลังชุมชนในการจัดการ โดยนายประทุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ กทม. กล่าวว่า ชุมชนรอบ สสส. มีทั้งหมด 3 ชุมชน คือ ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลู และชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู อัตลักษณ์ชุมชนคือเป็นชุมชนที่มีการบุกรุกและแออัด การสัญจรไปมาลำบาก เพราะจอดรถไม่เป็นที่เป็นทาง เคยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่เห็นผลหรือผลออกมาไม่ตรงกับที่เราต้องการ เมื่อ สสส.มาชวนเราพัฒนาชุมชนสุขภาวะ 6 ด้าน ผลออกมาเกินคาดและตรงตามต้องการ เพราะเขาให้เราคิดเอง ทำเอง สร้างเอง โดย สสส.ช่วยแบ็กอัพและประสานประเด็นที่ต้องการให้ ทำให้เราจับประเด็นได้ถูกว่าต้องทำอะไร แล้วทั้ง 3 ชุมชนใกล้เคียงก็ทำงานร่วมกัน จนเกิดประสิทธิภาพในการดูแลชุมชน

                  สิ่งที่เราเน้นในชุมชนเลยคือ 1.ผู้สูงอายุ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีผู้สูงอายุเยอะมาก เราพยายามสื่อสารในชุมชนว่า ความชราเป็นธรรมชาติมนุษย์ แต่จะชราภาพอย่างไรให้มีคุณภาพ แล้วก็ระดมความคิดว่าจะทำอะไรบ้าง มีทั้งการจัดกลุ่มกิจกรรมออกกำลังกาย มีกลุ่มสูงอายุต่างๆ เป็นการใช้สังคมบำบัด มีการไปเยี่ยมผู้ติดเตียงหรือพิการสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที 2.เยาวชน เพราะชุมชนเราเป็นพื้นที่สีแดงรองจากคลองเตย มียาเสพติดค่อนข้างรุนแรงในอดีต เราพยายามดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา สื่อสารเรื่องของยาเสพติดผิดกฎหมาย โทษของยาเสพติด เปิดพื้นที่และความคิดให้เด็กเยาวชนได้ทำสิ่งที่ต้องการ คิดอะไร อยากเป็นอะไร อยากเล่นอะไร เช่น เขาคิดทำจุดเช็กอินหน้าชุมชน มีการเพนท์สีหน้าชุมชน เป็นต้น รวมถึงปลุกปั้นให้เด็กและเยาวชนเป็นกำลังหลักในการเข้ามาพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคตด้วย

                  นอกจากนี้ เราพยายามเก็บข้อมูลชุมชนท้องถิ่นของเรา เพื่อให้เกิดข้อมูลในการนำมาดูแลคนในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนเราก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกันด้วยตนเอง โดยมี สสส.ให้คำปรึกษาในการเก็บข้อมูลที่ต้องละเอียดและสามารถนำมาใช้ได้จริง อย่างที่ผ่านมาเราเคยสำรวจจริงๆ พบว่า อัตลักษณ์เป็นชุมชนยากจน แต่ข้อมูลออกมามีเงินเหลือครัวเรือน 7-8 หมื่นบาท ก็ต้องมาฟอร์มทีมในการเก็บข้อมูลที่ละเอียดใหม่และมีประสิทธิภาพ เช่น อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้ไปเก็บข้อมูลผู้ป่วยติดเตียง โรคเรื้อรัง ประธานกลุ่มผู้สูงอายุไปสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุ คณะกรรมการชุมชนก็ไปเก็บข้อมูลประชากรคนละซอย เป็นต้น ตอนนี้ลุล่วงไปได้ 70% ถือว่าพัฒนาขึ้นมาก

                  ส่วนการเดินหน้าต่อในอนาคต เราพยายามให้เกิดการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน เพราะขณะนี้มีปัญหาเรื่องของการใช้พื้นที่ เนื่องจากกรมธนารักษ์ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ต้องอาศัยพลังชุมชนระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมขับเคลื่อนทางออกด้วยกัน รวมถึงวางแผนใหญ่ที่จะทวงพื้นที่สาธารณะคืนจากชุมชนที่จับจองพื้นที่สาธารณะเป็นที่ขายของ วางขยะ และจอดรถไม่เป็นระเบียบอีกด้วย

                  “เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี”

                  นายประภัสสร ผลวงษ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมืองของเราสู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปัญหาคือความเป็นเมือง ที่คนมักพูดว่ามากคนก็มากความ ยิ่งเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีการแบ่งพวกแบ่งพรรค บุคลากรต่างๆ เป็นคนในพื้นที่ที่มีความคิดทัศนคติแบบเดิมๆ และกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการดูแลสุขภาวะ เช่น ใช้งบประมาณ หรือแก้ปัญหาข้ามเขตพื้นที่ไม่ได้ เป็นต้น

                  นายประภัสสร กล่าวอีกว่า กลไกของ สสส.ได้เปิดโลกทัศน์ เปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ไม่ใช่มากคนมากความ แต่การทำงานชุมชนเราต้องสร้างการมีส่วนร่วม ดึงคนเก่ง ดึงปราชญ์ชุมชน สร้างเวทีการมีส่วนร่วม เพื่อดึงคนเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน ทำข้อมูลด้วยกัน คิด พูด ทำด้วยกัน สุดท้ายนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อคนมาร่วมเยอะก็กลายเป็นพลัง เพราะเราให้เขาคิดเหมือนเราพูดเหมือนเรา

                  “เราทำมา 2 เวทีแล้ว คือ เวทีขยะติดเชื้อ เนื่องจากเทศบาลสร้างเครื่องกำจัดขยะขึ้นใหม่ มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 300 บาท เป็น 1,000 บาท ทำให้เกิดกระแสคัดค้านเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการทำเวทีเขาได้ร่วมรับฟัง ร่วมคิด ทำให้เข้าใจปัญหาถ้าไม่มีการจัดการมูลฝอยติดเชื้อจะทำอย่างไร ทำให้ได้เห็นว่ามีเทคโนโลยีแบบนี้ต้องใช้คนอย่างไร ต้องใช้เงินมากน้อยอย่างไร ก็เห็นตรงกันที่จะเก็บค่าใช้จ่าย 1,000 บาท หรืออีกเวทีเรื่องโรคติดต่อ ก็นำชุมชนที่เก่งเรื่องการจัดการควบคุมโรคมาแลกเปลี่ยน ทำให้คนในชุมชนได้ไอเดียมุมมองและได้จิตสำนึกที่จะไปช่วยกันทำเรื่องควบคุมโรคในพื้นที่” นายประภัสสร กล่าว

                  นายประภัสสร กล่าวว่า การทำงานเราเน้นสร้างความร่วมมือ คน กลไก ข้อมูล ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐให้เข้าหากัน เอาประเด็นทั้งหมดไปเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ การขับเคลื่อนต่างๆ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม เช่น เรื่องจราจร ก่อนหน้านี้บริเวณทางดค้งมีแผนจะติดไฟแดง แต่เมื่อชุมชนเห็นตรงกันว่าไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งเสี่ยงอุบัติเหตุมากขึ้น เราก็ล้มเลิกตรงนี้ไป นอกจากนี้ ยังพยายามเก็บข้อมูลชุมชนด้วย เพื่อให้เกิดข้อมูลนำมาทำเป็นแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

                  “เทศบาลนครหาดใหญ่” ปิดท้าย

                  นางเยาวลักษณ์ บุญตามชู นักวิชาการสาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า เราเน้นการทำข้อมูลชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีข้อมูลเป็นของตนเอง เป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง และนำข้อมูลไปใช้พัฒนาชุมชนของตนเองได้ ซึ่งเทศบาลฯ เรามีทั้งหมด 103 ชุมชน ได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพที่จะทำได้และมีความแตกต่างกันในบริบทต่างๆ เช่น ชุมชนเล็ก ชุมชนใหญ่ ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนเศรษฐกิจ ชุมชนชานเมือง เป็นต้น นำร่องได้ 18 ชุมชน เราให้ชุมชนเก็บข้อมูลเอง วิคราะห์เอง ใช้เอง ช่วงแรกปลายปี 2564 เราทำได้ 2 ชุมชน แต่ก็ไม่ท้อ เราพยายามที่จะขยายการดำเนินการให้เพิ่มขึ้น โดยเราอาศัยคนในชุมชนที่เข้ามาร่วมชี้เป้า นัดหมายเคลียร์พื้นที่ เพื่อให้เกิดการเข้ามาเก็บข้อมูลที่สะดวก ถูกต้องครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสุดท้ายจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปใช้เป็นข้อมูลเขียนงานโครงการแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ และจะสามารถดึงทุนศักยภาพในพื้นที่มาสนับสนุน และเสริมด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ก็คิดว่าหากทำเช่นนี้แล้ว เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็เข้มแข็ง

                  จากบทเรียนทั้ง 5 ชุมชน หากผู้นำท้องถิ่นเข้มแข็ง ดึงคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ชุมชนก็จะบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง สุดท้ายคนในชุมชนก็จะมีความพอใจ เพราะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและร่วมดีไซน์การใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code