ชาว อ.เชียงของ ปรับพฤติกรรมขับขี่ลดอุบัติเหตุ
ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก
ชาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทำความเข้าใจกับชุมชน ปรับพฤติกรรมขับขี่ อุบัติเหตุลดลง
การลงพื้นที่ติดตามคณะทำงานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อ.เชียงของ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลมอบหมายให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ มีการก่อสร้างระบบคมนาคม ปรับปรุงถนนหลายส่วน ให้ความสำคัญในเชิงมาตรการสังคม ขับเคลื่อนการดำเนินการในทุกภาคส่วน พร้อมประกาศ “เชียงของ เมืองความปลอดภัยทางถนน” เซฟซิตี้ 4.0 ที่มีการจัดรณรงค์ มาตรการทางสังคมสิ่งแวดล้อม เมืองศูนย์กลางการค้าและการลงทุน
ทั้งนี้ ถนนที่เข้า อ.เชียงของ จะเป็น 4 ช่องทางจราจร มีความชัน ความโค้ง ไม่มีเกาะกลางถนน ผู้ขับขี่ใช้ความเร็ว ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำทุกวัน จึงมีการประชาสัมพันธ์ลดความเร็วในเขตเมือง มีเด็กจากหลายโรงเรียนมาช่วยรณรงค์ถือป้ายลดความเร็ว จนปัจจุบันรถที่ผ่านเขตเมืองต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 60กม./ชม. ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน เผยที่ผ่านมาใช้หลายมาตรการเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ย้ำว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องเข้ามาช่วยกำกับดูแล และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎจราจร
นายทัศไชย ไชยทน ปลัดเทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงของ กล่าวว่า แม้จะมีการปรับปรุงสภาพถนนขยายให้กว้างขึ้น แต่ชาวบ้านยังติดใช้วิถีชีวิตแบบเดิม จะจอดรถ จะกลับรถ ทำตามใจตัวเอง โดยเฉพาะตามแยกต่างๆ เด็กเริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์มากขึ้น บางส่วนก็ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขาดทักษะ และไม่มีความรู้เรื่องกฎจราจร ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น รวมทั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุกับชาวต่างชาติ ที่ขับรถผ่านชายแดนเข้ามาเพราะใช้ถนนคนละฝั่ง องค์กรส่วนท้องถิ่น จึงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งเรื่องจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และการทำความเข้าใจให้ความรู้กับคนในชุมชน
นายยศกร สุขสอาด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย สาขาเชียงของ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปภ. ถือเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานขนส่ง ตำรวจ สาธารณสุข และสถานศึกษา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พยายามให้ทุกท้องถิ่นมีศูนย์ลดอุบัติเหตุในชุมชน และหมู่บ้าน หาช่องทางในการทำกิจกรรม ไม่เพียงแค่เด็ก แต่ยังรวมถึงชุมชน คนพิการ โดยกว่า 10 ปี ที่ดำเนินการมา เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของประชาชน ที่มีความเข้าใจมากขึ้น จากเดิมสถิติอุบัติเหตุ ช่วงก่อนปี2559 จ.เชียงรายสูงติด 10อันดับแรกของประเทศ ปัจจุบันลงลดไม่ติด 20 อันดับแรกของประเทศ ส่วนในอนาคตมีแผนจะขยายไปยังโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และพบผู้สูงอายุ เวลาเดินทางไปวัดทำบุญ ที่มักขับขี่รถจักรยานยนต์ไป หากเกิดอุบัติเหตุก็มักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต