ชาวหนองลุง ชุมชนปลอดเหล้า
เรื่องเล่าจากชาวหนองลุง ชุมชนปลอดเหล้าบนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
การตั้งวงดื่มเหล้า เครื่องดื่มมึนเมา ยามว่าง ในงานเลี้ยงสังสรรค์ งานบุญ ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนไทย เช่นเดียวกับชาวบ้านหนองลุง ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ก็มีวิถีชีวิตเช่นนั้น ซึ่งปัญหาการดื่มสุรา ของมึนเมาของคนในหมู่บ้าน นำมาซึ่งปัญหาการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน เสียสุขภาพ หนักที่สุดคือเสียชีวิต
เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า องค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม จึงมีแนวคิดที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมให้บ้านหนองลุงกลายเป็นชุมชนปลอดเหล้า โดยสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจ เริ่มจากการเลือกผู้นำชุมชน เยาวชน อสม.จิตอาสา ซึ่งมาจากตัวแทนของคุ้ม (ในหมู่บ้านมี 6 คุ้ม) จำนวน 40 คน หรือที่เรียกว่า 40 ทหารเสือ เพื่อเป็นบุคคลต้นแบบในการลด ละ เลิกสุรา และมีความต้องการที่จะพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ พร้อมทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้านทราบและเรียนรู้สาเหตุ การแก้ปัญหา และป้องกันผลกระทบจากการดื่มสุรา จนนำไปสู่การสร้างกฎ กติกาในชุมชน อาทิ ห้ามเปิดเครื่องเสียงดัง รวบกวนเพื่อนบ้านในยามวิกาล ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท งดเหล้าเข้าพรรษานำไปสู่การเลิกเหล้าถาวร ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานศพ งานบุญประเพณี ร้านค้าในหมู่บ้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงจัดทำประกาศเกียรติคุณ เพื่อยกย่องครอบครัวปลอดเหล้า ปฏิบัติตาม เป็นต้น
จากผลการดำเนินงานในปีแรกของโครงการ แกนนำ 40 ทหารเสือ เลิกดื่มเหล้าได้ 100% และยังสามารถชักชวนให้ชุมชนปลอดเหล้าเด็ดขาดถึง 53 ครัวเรือน งานศพปลอดเหล้า 100% ทำให้เจ้าของงาน ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเฉลี่ยกว่า 34,000 บาท ไม่มีการตั้งวงดื่มเหล้า ในช่วงงานเทศกาลต่างๆ หรือตามคุ้มต่างๆ ไม่มีเสียงดังรบกวนจากการที่เด็กขี่มอเตอร์ไซด์เสียงดังรบกวน และไม่มีการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเมาสุรา
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในปีที่ 2 จึงได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการสร้างกลไกในการบริหารจัดการชุมชน โดยการคัดเลือกสมาชิกสภาฯ จาก 6 คุ้ม ผู้แทนจากกลุ่มองค์กร จำนวน 15 คน รวมสมาชิกสภาองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 27 คน และมีแกนนำ 40 ทหารเสือเข้าร่วมกันเป็น สภาองค์กรชุมชน จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ทำงานอย่างเป็นระบบ มีการตรวจสอบอย่างแข็งขัน
นอกจากปัญหาเรื่องสุรา ซึ่งคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมให้เป็นหมู่บ้านปลอดเหล้าแล้ว จากการสำรวจ ยังพบปัญหาหนี้สินครัวเรือน แกนนำชุมชน จึงนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน โดยกำหนดผลลัพธ์ของการดำเนินงานในปีที่ 2 คือ การลดรายจ่ายของครัวเรือนมีการผลักดันให้ชาวบ้านรู้จักการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อาทิ การปลูกผักปลอดสารพิษ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า สบู่ ยาสระผม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมชุมชนในระดับครัวเรือนและชุมชน
มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ หน้าบ้านน่ามอง ความสะอาดของบ้านของตน เป็นต้น
จากแนวทางในการดำเนินงานทำให้ปีที่ 2 ถึงปัจจุบันพบว่า ชุมชนหนองลุงมีครัวเรือนปลอดเหล้า 55 ครัวเรือนจาก 57 ครัวเรือน ไม่มีการวงดื่มเหล้าในช่วงงานเทศกาลหรือตามคุ้มต่างๆ ไม่มีการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นภายหลังจากการดื่มสุรา จากการทำบัญชีครัวเรือน ผลลัพธ์พบว่า ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง โดยเฉลี่ย จาก 11,120 บาท เหลือ 8,100 บาท ต่อเดือน เป็นผลมาจากค่าเหล้าลดลง และการปลูกผักกินเอง ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในการแก้ไขและพัฒนาหมู่บ้านมากขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในข้างต้น แม้วันนี้ ที่นื่ จะยังไม่ใช่ชุมชนปลอดเหล้า 100% แต่นับว่าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการเป็น ‘ชุมชนปลอดเหล้าบนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง’เช่นเดียวกับบ้านหนองลุง
ที่มา: สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.