แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จับมือภาคีส่งเสริมการอ่านจังหวัดระนอง จัดกิจกรรม “เปิดโลกการอ่าน เสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย” จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน สร้างสีสันและคุณภาพชีวิตให้ชาวเมืองระนอง
สโมสรส่งเสริมการอ่าน กลุ่มระบัดใบ หนึ่งในภาคีส่งเสริมการอ่านที่เข้มแข็งของแผนงานฯ ได้จับมือภาคีเครือข่ายภายในจังหวัดระนอง เช่น เครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.ระนอง, กศน.จังหวัดระนอง, สโมสรโรตารีระนอง, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, ศูนย์การศึกษาพิเศษ, คลินิกพัฒนาการเด็กและครอบครัว ฯลฯ ร่วมกันจัดงาน “เปิดโลกการอ่าน เสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย” ขึ้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ลานเอนกประสงค์โรงพยาบาลระนอง กิจกรรมภายในงานมีทั้งกิจกรรมบนเวที การเล่านิทานประกอบสื่อ, การประกวดหนังสือนิทานทำมือ, ซุ้มนิทรรศกาลจากหน่วยงานต่างๆ, เสวนา “ทำไมเด็กปฐมวัยต้องใช้หนังสือ เพื่อเสริมพัฒนาการ” ตัวแทนหน่วยงานด้านการดูแลเด็กปฐมวัยสะท้อนถึงความสำคัญของการใช้หนังสือเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในแต่ละด้านผ่านประสบการณ์การดูแลเด็กในหน่วยงานของตนเอง ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองผู้ดูแลเด็กที่เข้าร่วมงานตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้หนังสือเป็นสื่อในการดูแล การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ด้าน
พญ. ณัฐกานต์ วิฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลยุวประสารท ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เผยว่า “ส่วนตัวนั้นอยากจะเห็นเด็กระนองรักการอ่านรักการเรียนรู้ และยินดีจะร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการอ่านในจังหวัดระนองอย่างแท้จริง”
พญ. ณัฐกานต์ วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า “ปัจจุบันพบว่าเด็กอ่านหนังสือน้อยมาก อาจเป็นด้วยปัจจัยที่พ่อแม่ ไม่มีเวลาและใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูกมากเกินไป ปัญหาที่ตามมาคือลูกไม่อ่านหนังสือ
การเลือกหนังสือให้เหมาะสมตามวัยเป็นสิ่งสำคัญเพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีความสนใจและต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น วัยก่อนเข้าโรงเรียน พัฒนาการของเด็กวัยนี้ การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญ การสัมผัส ภาพ สี หนังสือที่เลือกใช้ควรมีภาพสีสดๆ ชัดเจน และเด็กยังอ่านไม่ออกต้องให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้สัมผัส ไม่เน้นที่ตัวอักษรเพราะสายตาเด็กในช่วงนี้ยังไม่ค่อยเห็นชัดเจน ในวัยอนุบาลเด็กค่อนข้างเรียนรู้ได้เร็ว เหมาะสำหรับการเรียนรู้ภาษา ก. ไก่ ข. ไข่ หนังสือควรมีขนาดใหญ่ มีภาพประกอบด้วยจะดีมาก ปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยนี้คือ คุณพ่อคุณแม่จะเร่งรัดให้ลูกเรียนรู้เพื่อเข้าเรียนประถมต้น แท้จริงแล้วยังไม่จำเป็นเลยที่จะต้องท่องหรืออ่านให้ได้
มีงานวิจัยชี้ชัดได้ว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของเมืองไทยตอบสนองแค่เด็กอัจฉริยะ หรือเด็กที่มีการรับรู้ที่ไวมากเท่านั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ในประเทศไทยพบเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์คือเด็กทั่วไป พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก ควรมีการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย การกล่าวคำชื่นชมและแนะนำจากพ่อแม่ เป็นสิ่งจูงใจสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก”
พญ. ณัฐกานต์ กล่าวเสริมอีกว่า “หากย้อนนึกถึงความเป็นจริง ใน ๑ วัน หรือ ๘ ชั่วโมงที่เด็กจะต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กอาจเกิดความเหนื่อยล้าผู้ปกครอง ไม่ควรบังคับให้เร่งรีบทำการบ้านเมื่อกลับมาถึง ก่อนการทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ควรให้เด็กมีโอกาสวิ่งเล่นตามประสาจะช่วยให้เด็กผ่อนคลาย มีสมาธิในการอ่านมากยิ่งขึ้น และตรงกันข้ามเด็กที่เล่นเกมเป็นประจำจะทำให้ความพยายาม ความสนใจในการอ่านหนังสือน้อยลง นอกจากนี้ยังส่งผลให้สมาธิของเด็กสั้นลงอีกด้วย อีกวิธีในการกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน คือ ควรงดสื่ออื่นๆ และเพิ่มให้มีเวลาในการอ่านมากขึ้น แนะนำว่าช่วงวัยเตาะแตะควรอ่านหนังสือให้ฟังบนตักอย่างน้อย ๑๕ นาที เป็นประจำ เสมือนเป็นกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้แน่นอน”
นางเพียงใจ พุฒแก้ว หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านระวิ กล่าวในเวทีเสวนาว่า “ในฐานะที่ตนเป็นผู้ดูแลเด็ก ได้พิสูจน์แล้วว่า การใช้หนังสือนิทานกับเด็กปฐมวัยสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้จริง ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านระวิ เด็กๆเปลี่ยนไปและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น พัฒนาการด้านการขับถ่าย และกิจวัตรประจำวันของเด็กๆ เพราะส่วนใหญ่เด็กศูนย์จะเป็นเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 2-3 ปี ผู้ปกครองนำมาฝากเลี้ยง เด็กมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ที่เด็กไม่สามารถควบคุมและบอกกล่าวกับครูได้ เมื่อนำมาฝากเลี้ยงผู้ปกครองจะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้เด็ก และใส่ติดกระเป๋าเด็กอีก 2-3 ผืน แต่เมื่อตนได้อ่านหนังสือเล่านานเรื่อง อึ หนึ่งในหนังสือนิทานใน ‘ชุด ๑๐๘ หนังสือดีเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย’ สังเกตได้ชัดเจนว่า เด็กมีพัฒนาการด้านการควบคุมการขับถ่าย กล้าที่จะบอกกล่าวกับครูได้ และเห็นว่าการ ตด อึ ฉี่ ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีหนังสือนิทานอีกหลายเล่มที่ให้ประโยชน์อย่างมากกับเด็กในช่วงวัยนี้ เช่น คำพูดไม่ได้มีไว้ทำร้ายกัน, ขอหนูหลับหน่อย, มือไม่ได้มีไว้ตี, กุ๋งกิ๋งท้องผูก, คุณเต่าพูดเพราะ ฯลฯ ที่ผ่านมาใช้แล้วมีประโยชน์จริงๆ จึงอยากแนะนำและบอกต่อให้ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ ใช้หนังสือกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ”
การจัดงานในครั้งนี้นอกจากเด็กๆ ชาวระนองจะได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลินแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองยังได้รับความรู้ หลักการใช้หนังสือเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงดู สร้างสายใยสัมพันธ์ในครอบครัว เสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน
นายสุพจน์ องค์วรรณดี หัวหน้าสโมสรส่งเสริมการอ่าน กลุ่มระบัดใบ หนึ่งในแกนหลักสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า วัฒนธรรมการอ่านช่วยสร้างสุขให้เด็กของเราได้ หากทุกคนเห็นความสำคัญ และร่วมมือร่วมใจกันครับ
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน