‘ชากไทย’ ตำบลเข้มแข็งต้นแบบชุมชนพัฒนา
ชากไทยเป็นตำบลแห่งหนึ่งในเขตอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี หากมองด้วยสายตาผิวเผินแล้วถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตพืชสวนอาทิ เงาะ ลองกอง มังคุดแหล่งใหญ่ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หากใครได้เข้าไปสัมผัสและใช้เวลาร่วมกับชุมชนสักระยะหนึ่งแล้ว จะพบว่านอกจากปัจจัยทางกายภาพที่สมบูรณ์แล้ว ชาวชุมชนชากไทยเองก็มีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำการแปรรูปสินค้าเกษตร การปรับปรุงผลิตผลพืชสวน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
เมื่อประกอบเข้ากับกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบและเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ทำให้ที่นี่ถูกจัดให้เป็นตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อใช้เป็นศูนย์แม่ข่ายให้ตำบลสุขภาวะอื่นๆอีกหลายสิบแห่งทั่วประเทศ เข้ามาศึกษาดูงานแล้วนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง
ชยุตม์เทพ ป๊อกตังนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชากไทย เล่าว่า ตำบลแห่งนี้มีจุดแข็งเรื่องเกษตรกรรมเพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์ และเดิมทีชาวบ้านในพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่มรวมตัวในด้านต่างๆ กันอยู่บ้างแล้ว แต่ปัญหาคือเมื่อรวมตัวกันได้แล้วก็ต่างคนต่างทำ ไม่มีหลักคิดอย่างเป็นองค์รวมทำให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปได้ช้า
“ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างขวางถึง86 ตารางกิโลเมตร ทำให้ขอบเขตการพัฒนากว้างตามไปด้วย เราก็มองว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน ก็
เลยสำรวจต้นทุนทรัพยากรในชุมชน ซึ่งมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านกันอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหมอสมุนไพร กลุ่มเกษตรกรทำสวน ฯลฯ แต่มันไม่เชื่อมโยงกันเลยนำกลุ่มเหล่านี้มาจัดระบบใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนามากขึ้น” ชยุตม์เทพ กล่าว
ชยุตม์เทพ ขยายความว่า เมื่อนำกลุ่มมวลชนต่างๆ มาจัดระบบแล้วจะมีอยู่ 7 ระบบคือ 1.ระบบบริหารจัดการตำบล 2.ระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.ระบบพลังงานทดแทน 4.ระบบอาสาสมัครชุมชน 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน 6.ระบบสวัสดิการชุมชน และ 7.ระบบสุขภาพชุมชนและภูมิปัญญา
เมื่อจัดระบบเช่นนี้แล้วจะทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการเหล่านี้ยังต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นรับฟังข้อมูลจากประชาชนทุกกลุ่ม เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแก้ปัญหาผ่านกระบวนการทำมติชุมชนชยุตม์เทพยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น เรื่องการบริหารทรัพยากรน้ำ เดิมที ต.ชากไทย จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. มาโดยตลอด ขณะที่แหล่งน้ำสำรองของตำบลมีเพียง 3 บ่อ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำกันทุกปี
เมื่อชาวสวนต่างคนต่างนำปั๊มน้ำมาสูบเข้าสวนตัวเองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาคนพื้นที่ใกล้ก็สูบได้เยอะ คนอยู่ไกลก็ไม่ได้น้ำทำให้คนในชุมชนแตกแยก เวลาไปทำบุญก็แทบจะไม่มองหน้ากัน เมื่อต่างคนต่างสูบทั้งวันทั้งคืน แค่ 15 วัน บ่อน้ำสำรองก็แห้งขอดจนหมด
“เมื่อเป็นแบบนี้จึงมีการทำประชาคมในหมู่บ้าน สรุปว่าจะไม่ให้ใครเอาปั๊มน้ำมาตั้งสูบเองแล้ว แต่จะมีปั๊มกลางสูบแบ่งกัน โดยให้สูบบ้านละ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกๆบ้านได้น้ำเท่าเทียมกัน พอใช้การจัดการแบบนี้ก็ทำให้ปัญหาการทะเลาะกันหมดไป” ชยุตม์เทพ กล่าว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยกลุ่มต่างๆและชาวบ้านให้มีแนวคิดสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เรียกว่ากลุ่ม core team
เรวัติ นิยมวงศ์รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชากไทย ขยายความว่า กลุ่มcore team จะทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้ากันได้ เปรียบเสมือนคอนดักเตอร์ที่คอยดูภาพรวมของการทำงานเช่น กลุ่มร้านค้า โรงสีชุมชน และกลุ่มออมทรัพย์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็ออกแบบการทำงานใหม่ ให้กลุ่มออมทรัพย์เข้ามาถือหุ้นกับกลุ่มร้านค้า ต่างคนต่างได้ประโยชน์เพราะร้านค้าขายของได้ กลุ่มออมทรัพย์ได้เงินปันผลมากกว่าดอกเบี้ยปกติ เป็นต้น
“กระบวนการทำงานจะไม่ใช่การสั่งให้แต่ละกลุ่มทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่จะค่อยๆเปลี่ยนวิธีคิดอย่างไม่รีบร้อน ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆขาดตรงไหนก็เติม ค่อยๆ หล่อหลอมชุมชนให้เชื่อมโยงกัน”เรวัติ กล่าว
…ดังที่กล่าวข้างต้น ว่าชากไทยเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน ซึ่งจะมีฐานการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆให้ค้นหาอีกมาก หากใครมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่นี่ จะได้พบกับกลุ่มเกษตรกรทำสวนที่มีเคล็ดลับในการปลูกมังคุดให้ได้คุณภาพดี ส่งออกต่างประเทศและขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด
นอกจากนี้ ได้พบกับหมอพื้นบ้านที่พร้อมจะเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์แห่งสมุนไพรในการรักษาโรค ได้พบกับกลุ่มคนที่เลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพและพัฒนาเป็นสินค้าโอท็อปประจำตำบล
รวมทั้งกลุ่มองค์ความรู้อื่นๆอีกมากมายจนยากจะสาธยายได้หมด ดังนั้นต้องเดินทางไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าชุมชนเข้มแข็งที่แท้จริงเป็นอย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์